ปัญหาการศึกษาไทย
จากการค้นคว้าข้อมูลในหัวเรื่อง "ปัญหาการศึกษาไทย" แล้วนำข้อมูลหลายๆแหล่งมาสังเคราะห์นั้นมีสำนักงานที่เกี่ยวข้องได้เสนอ ปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาการศึกษาไทยอยู่หลายแหล่งซึ่งสามารถจะสรุปและ อ้างอิงได้ดังนี้ศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงศึกษาธิการ
ได้บอกถึงปัญหา การจัดการศึกษาของไทย ที่ทำให้ความพยายามที่จะปฏิรูปการศึกษาในรอบ 7-8 ปีที่ผ่านมา ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จากการวิเคราะห์และสังเคราะห์ในภาพรวมแล้ว พบว่ามีอุปสรรคปัญหาสำคัญอยู่ 5 ปัญหาใหญ่ๆ ดังนี้
1. ปัญหาครูอาจารย์ ผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษาของไทยส่วนใหญ่ ยังขาดความเข้าใจว่า การปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริงนั้น หมายถึงการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่อย่างถึงรากถึงโคน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นและแตกต่างไปจากเดิม เช่น การเปลี่ยนแปลงวิธีคิด เป็นต้น แต่การปฏิรูปการ ศึกษาของไทยในรอบ 7-8 ปีที่ผ่านกลับถูกตีความหมายว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหาร และวิธีการทำงานของครูอาจารย์ตาม กฎหมาย นโยบาย คำสั่ง และคำชี้แนะต่างๆจากบนลงล่าง การที่จะให้คนในองค์กรไม่ว่าครูอาจารย์ ผู้บริหารทุกระดับในกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิรูปการศึกษาหรือปฏิรูปตนเองเป็นไปได้ยากและมีข้อจำกัดหลายประการมีความ เคยชินกับวิถีชีวิตเดิม ไม่อยากเปลี่ยนแปลง มักคิดแบบเข้าข้างตนเองว่าตนเองทำถูกแล้วหรือทำดีอยู่แล้ว ถึงแม้จะมีคนในองค์กร บางคนที่มีความคิดก้าวหน้า วิเคราะห์องค์กรตัวเองแบบวิพากษ์วิจารณ์ได้และสนใจที่จะปฏิรูปตัวเองและ องค์กรของตัวเองอยู่บ้าง แต่ก็มักเป็นคนส่วนน้อยที่มีอำนาจและบทบาทที่จำกัด ทำให้มีการวิเคราะห์ได้จำกัดไปด้วย
2. ปัญหาการขาดภาวะผู้นำที่ตระหนักถึงรากเหง้าและความสำคัญของปัญหาการปฏิรูปการศึกษา มองปัญหาเรื่องการศึกษาอย่างเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นในสังคมแบบเป็นระบบองค์ รวม ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง (Critital Mass) ที่จะไปผลักดันการเปลี่ยนแปลงการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบได้อย่างแท้จริง
3. ปัญหาระบบคัดเลือก การบริหารและการให้ความดีความชอบครูอาจารย์ ผู้บริหารและ บุคลากรทางการศึกษา อยู่ภายใต้ระบบราชการแบบรวมศูนย์กลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการปฏิรูปทางการ ศึกษา ผู้บริหารส่วนใหญ่ทำงานตามหน้าที่ให้ พอผ่านกฎระเบียบไปวันๆก็ได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นทุกปีตามระบบราชการ ไม่มีการแข่งขัน การตรวจสอบและประเมิน เพื่อ เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานอย่างจริงจัง แม้จะมีการประเมินเพื่อเลื่อนขั้นเงินเดือน เลื่อน ตำแหน่งบ้าง แต่ก็เป็นการประเมินภายใต้กรอบข้าราชการแบบหล้าหลัง เช่น การสอบ การประเมินจากงานเขียน การรายงานเอกสาร ไม่ได้มีการประเมินจากผลลัพธ์ทางการเรียนของผู้เรียนอย่างแท้จริง อีกทั้งระบบราชการแบบรวมศูนย์เป็นระบบบริหารแบบอุปถัมภ์ มีการปกป้องผลประโยชน์ ส่วนตัว แบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่ค่อยดูแล วิจารณ์ หรือลงโทษเพื่อนร่วมงานในกระทรวงอย่างจริงจัง ส่วนการได้ดีระบบดังกล่าวมักใช้วิธีการประจบ แสดงความจงรักภักดี เป็นพรรคพวก มีการวิ่งเต้นแลกด้วยผลประโยชน์ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ กลายเป็นระบบการบริหารที่ขาดประสิทธิภาพและขาดความเป็นธรรม ทำให้ครูอาจารย์ที่เก่งที่ดีบางส่วนลาออกไปทำงานอื่นที่ท้าทายหรือให้ความพอ ใจมากกว่า บางส่วนอาจทนอยู่แบบไฟค่อยๆมอดลงตามลำดับ
4. ปัญหา ด้านประสิทธิภาพการใช้งบประมาณการศึกษาในแง่คุณภาพของผู้จบการศึกษา ทุกระดับต่ำกว่าหลายประเทศ ทั้งๆที่การจัดสรรงบประมาณการศึกษาของรัฐบาล คิดเป็นสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรืองบประมาณประจำปีทั้งหมดอยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ปัญหาเกิดจากการใช้งบประมาณไม่เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในหลายด้าน เช่น นิยมใช้งบประมาณไปก่อสร้างอาคารสถานที่ และการซ่อมแซมมากกว่าการใช้วัสดุอุปกรณ์ สื่อการศึกษา หนังสือ ห้องทดลอง ห้องปฏิบัติการ ฯลฯ
5. ปัญหา ระบบการประเมินผลและการสอบแข่งขันเพื่อรับการคัดเลือกเรียนต่อใน มหาวิทยาลัย รวมทั้งการศึกษาระดับอื่นๆด้วย ยังเป็นการสอบแบบปรนัย เพื่อวัดความสามารถในการจดจำข้อมูล ทำให้ขัดแย้งกับแนวคิดปฏิรูปการเรียนรู้แบบใหม่ที่เสนอว่า ควรให้ผู้เรียนได้หัด คิดวิเคราะห์เป็น ระบบการประเมินผลแบบนี้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาการเรียนรู้แบบใหม่ที่ต้องการ ให้ผู้เรียนเก่ง ดี มีความสุข คิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์เป็น เพราะผู้ปกครอง ครูอาจารย์ นักเรียนต่างก็ห่วงแต่เรื่องทำเกรดเพื่อการสอบแข่งขันในระบบแพ้คัดออก คัดเลือกคนส่วนน้อยไปเรียนระดับสูง ขณะเดียวกันยังมีปัญหาสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพแตกต่างกันมาก โดยเฉพาะ มหาวิทยาลัยของรัฐที่ตั้งมานานและได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐมาก ทำให้มีชื่อเสียงและผู้เรียนก็เสียค่า เล่าเรียนที่ต่ำกว่ามหาวิทยาลัยเอกชน ทำให้นักเรียนต้องแข่งขันแย่งกันเข้าไปเรียน เพื่อที่จะได้รับ ปริญญาไปแข่งขันหางานทำ หาเงินให้มากภายใต้ระบบและนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ เน้นการเพิ่มผลผลิตและการแสวงหากำไรสูงสุด
การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมโลก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและกระแสโลกาภิวัตน์ทำให้ประเทศต่างๆ ต้องเผชิญกับสภาวะการแข่งขันสูงและต้องเร่งพัฒนาคนของตนให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพเพื่อให้สามารถรับมือกับสิ่งท้าทายดังกล่าวได้ ดังจะเห็นได้จากการที่ที่ประชุมรัฐมนตรีศึกษาของอาเซียนเมื่อเดือนสิงหาคม 2548 ได้ออกถ้อยแถลงร่วม (Joint Statement) ถึงความจำเป็นของอาเซียนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านกระบวนการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของภูมิภาค และสร้างอาเซียนให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง เพื่อให้ทุกคนได้รับประโยชน์จากโลกาภิวัตน์อย่างเท่าเทียม (ASEAN. 2005. online)
ด้วยเหตุนี้นานาประเทศรวมทั้งประเทศไทยจึงต้องเร่งปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพ การเรียนการสอนซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญในการหล่อหลอมเยาชนให้เติบโตขึ้นเป็นแรงงานที่มีศักยภาพ ทั้งนี้ปัจจัยหลักประการหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาคือการพัฒนาคุณภาพครูซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนให้การปฏิรูปข้างต้นประสบความสำเร็จ ( Reimers, 2003:12) โดย ดร.รุ่ง แก้วแดง มีความเห็นสอดคล้องกันว่าถ้าครูมีความรู้ ความสามารถ เสียสละ และตั้งใจสอนสั่งผู้เรียนอย่างเต็มความสามารถ จะช่วยเสริมสร้างให้เด็กไทยเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองดี เก่ง ฉลาด มีศักยภาพ มีความสุขและสามารถแข่งขันกับทุกประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ (รุ่ง แก้วแดง. 2544: 134)
อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับนานาประเทศแล้วจะพบว่าการจัดการศึกษาของไทยใช้งบประมาณสูงกว่ามากแต่ผลสัมฤทธิ์ที่ได้รับกลับด้อยกว่าทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ดังจะเห็นได้จากผลการประเมินความสามารถในการแข่งขันนานาชาติของ IMD (International Institute for Management Development) ได้จัดให้การศึกษาของไทยมีคุณภาพอยู่ในลำดับที่ 46 จาก 60 ประเทศ (โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย. 2550:7) รวมถึงการจัดดัชนีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ประจำปี 2549 ที่ไทยได้รับการจัดให้อยู่ลำดับที่ 74 จากทั้งหมด 109 ประเทศ (สำนักงานดูแลนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกา. 2550: ออนไลน์) ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่าปัญหาการจัดการเรียนการสอนดังกล่าวส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากคุณภาพและประสิทธิภาพในการดำเนินงานของครู (สมชาย บุญศิริเภสัช. 2545:2) ซึ่งหากพิจารณาในภาพรวมจะพบว่าปัจจุบันครูมีปัญหาหลักในสามด้านคือเรื่องคุณภาพการจัดการเรียนการสอน การมีหนี้สินล้นพ้นตัว รวมถึงภาวะการขาดแคลนครูสะสมโดยเฉพาะในสาขาที่สำคัญ (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. 2545::53) โดยมีสรุปรายละเอียดของประเด็นปัญหา และแนวทางการแก้ไขของภาครัฐที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ดังนี้
1) ปัญหาด้านคุณภาพของครู ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการประสบความสำเร็จอย่างสูงในการนำคนเก่ง คนดี มีความรู้เข้าสู่วิชาชีพครู โดยคัดเลือกจากนักเรียนที่เก่งที่สุดของแต่ละจังหวัดให้เข้ารับทุนเพื่อเรียนต่อด้านการฝึกหัดครู ดังนั้นครูในยุคนั้นจึงเป็นคนเก่งของประเทศ และมักประสบความสำเร็จทั้งในด้านการพัฒนานักเรียนและชีวิตส่วนตัว ต่อมาเมื่อประเทศไทยมีความต้องการครูสูงขึ้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเร่งผลิตครูมากขึ้นเป็นเงาตามตัวโดยปราศจากการวางแผนที่เหมาะสม ถึงกับสถาบันฝึกหัดครูทุกแห่งต่างเปิดสอนในภาคพิเศษและภาคสมทบอย่างแพร่หลาย ด้วยเหตุนี้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาสาขาครูจึงมีจำนวนมากเกินความต้องการของตลาดแรงงานส่งผลให้ตกงานในที่สุด ดังนั้นเด็กรุ่นต่อมาจึงไม่เลือกเรียนครูหรือเลือกเป็นลำดับสุดท้ายเนื่องจากไม่มั่นใจในโอกาสที่จะได้งานทำ จึงเป็นที่กล่าวขานกันว่านักเรียนที่เรียนอะไรไม่ได้จึงเข้าเรียนครูทำให้ภาพลักษณ์ของครู และคุณภาพการศึกษาตกต่ำลงมาก (รุ่ง แก้วแดง. 2544.:131)
นอกจากนี้ ดร.เลขา ปิยะอัจริยะ ผู้ทรงคุณวุฒิของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้ให้ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับปัญหาครูไม่มีคุณภาพว่ามิได้เกิดจากระบบไม่ดี หากเกิดจากการที่ครูขาดแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ไม่มีแรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเอง รวมถึงยังขาดการจัดการความรู้ที่ดีและมิได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนและแบ่งปันความรู้ระหว่างกัน ทั้งนี้ความรู้ในหลักสูตรและในหนังสือที่ประมวลมาสอนเด็กคิดเป็นเพียงร้อยละ 20 ของความรู้ทั้งหมด แต่ความรู้ส่วนใหญ่หรืออีกร้อยละ 80 กลับถูกละเลยได้แก่ความรู้ของครูที่เกษียณอายุไป เพราะที่จริงแล้วครูเหล่านี้มีความรู้และมีประสบการณ์ที่ฝังลึก กระทรวงศึกษาธิการจึงควรนำครูดังกล่าวมาถอดแบบความรู้เพื่อที่คนทั้ง สองรุ่นได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จร่วมกันและนำไปต่อยอดเพื่อสร้างคุณภาพเพิ่มแก่เยาชนในอนาคตได้ (เลขา ปิยะอัจฉริยะ. 2550: ออนไลน์)
สำหรับการแก้ไขปัญหาเรื่องคุณภาพของครูในปัจจุบันของกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการดังนี้
1.1การปฏิรูปการผลิตครูและสถาบันผลิตครู โดยกำหนดนโยบายการผลิตครูให้ชัดเจนด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์การปฏิรูปครูและบุคลากรทางการศึกษา (2547-2556) และการผลิตครูแนวใหม่หลักสูตร 5 ปี ใน 8 สาขา โดยเริ่มรุ่นแรกในปี 2547
ส่วนการปฏิรูปสถาบันผลิตครู ได้มีการปฏิรูปคุณภาพคณาจารย์ในสถาบันผลิตครู การวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับความเป็นเลิศทางครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์และการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานและประกันคุณภาพสถาบันฝึกหัดครู
1.2การพัฒนาและส่งเสริมครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา โดยจัดตั้งสถาบัน
พัฒนาและส่งเสริมครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา และการกำหนดนโยบายและแผนการพัฒนาครู ฯ ดำเนินการพัฒนาครู ฯ รวมถึงการยกย่องครู ฯ ที่มีผลงานดีเด่น
1.3การพัฒนามาตรฐานวิชาชีพ และการควบคุมการประกอบวิชาชีพ ได้แก่การจัดตั้งองค์กรวิชาชีพครู การพัฒนามาตรฐานวิชาชีพครู การส่งเสริม และยกย่องผู้ประกอบวิชาชีพ และการควบคุมการประกอบวิชาชีพ (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. 2550: 3-61 - 3-90)
2) ปัญหาหนี้สินครู ปัจจุบันมีครูมากกว่า 130,000 คน อยู่ในสภาพมีหนี้สินล้นพ้นตัวโดยเฉลี่ยมีหนี้คนละ 1.1 ล้านบาท ทำให้ครูขาดขวัญกำลังใจในการทำงาน มีคุณภาพชีวิตลดลง และต้องทำงานเพื่อหารายได้เสริม ทำให้ครูอุทิศตนต่อการปฏิบัติหน้าที่ที่รับผิดชอบได้ไม่เต็มที่ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนการสอนของผู้เรียนลดลง (วรากรณ์ สามโกเศศ . 2550: ออนไลน์) ทั้งนี้จากการเปิดเผยของโครงการติดตามสภาวการณ์ครูรายจังหวัด (Teacher Watch) พบว่า 5 จังหวัดแรกที่มีครูเป็นหนี้นอกระบบมากที่สุดคือมหาสารคาม มีครูเป็นหนี้นอกระบบถึงร้อยละ 60 มุกดาหารร้อยละ 58 สตูลร้อยละ 57.14 ยโสธรร้อยละ 53.93 และร้อยเอ็ดร้อยละ 53.10 (อมรวิชช์ นาครทรรพ. 2550: ออนไลน์)
สำหรับแนวทางในการเยียวยาเรื่องหนี้สินครูกระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมมือกับธนาคาร
ออมสินอนุมัติเงินกู้จำนวนทั้งหมด 8 พันล้านบาทเพื่อดูแลครูที่มีปัญหาวิกฤติจริงๆ และได้กำหนด แนวทางการแก้ปัญหาเพิ่มเติมดังนี้ การเปิดคลีนิคทางการเงินเพื่อให้คำแนะนำเรื่องการออมเงินและการปรับสภาพหนี้ เปิดศูนย์ฮอตไลน์ 1579 เพื่อให้บริการคำแนะนำเรื่องปัญหาหนี้สินของครู จัดโครงการสัมมนาแก่ครูทั่วประเทศเพื่อให้ความรู้ และจัดทำคู่มือเกี่ยวกับคำถาม-ตอบในเรื่องที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น (วรากรณ์ สามโกเศศ. 2550: ออนไลน์)
3. ปัญหาการขาดแคลนครูสะสม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้สำรวจภาวะการขาดแคลนครูในสังกัดตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกค) เมื่อต้นปี 2550 พบว่าโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศยังขาดแคลนครูประมาณ 70,000 คน (สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี. 2550: ออนไลน์) ทั้งนี้มีสาเหตุจากหลายประการอาทิการผลิตและบรรจุครูไม่สัมพันธ์กัน นโยบายของรัฐในการจำกัดกำลังคนภาครัฐและการคืนอัตรากำลังทดแทนขาดดุลยภาพ โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด การกำหนดเกณฑ์การคืนอัตรากำลังของสำนักงานข้าราชการครู ฯ กับคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและกำลังคนภาครัฐไม่ตรงกัน รวมถึงนโยบายการเกลี่ยอัตรากำลังครูไม่ได้ผล ฯลฯ ทำให้ครูแต่ละคนต้องทำงานหนัก มีเวลาในการเตรียมการสอนและถ่ายทอดความรู้ไม่เพียงพอ และบางครั้งทำให้ครูไม่มีโอกาสเข้ารับการพัฒนาอย่างเต็มที่ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ส่งผลให้คุณภาพการศึกษาของไทย ตกต่ำลง (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. .2548:31)
สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องการขาดแคลนครูคือ การจัดทำโครงการครูสหกิจ โดยให้นักศึกษาครูในหลักสูตร 5 ปี ได้ฝึกสอนในโรงเรียนที่ขาดครูโดยมีค่าเบี้ยเลี้ยงตอบแทน จัดให้ครูที่สอนไม่ตรงคุณวุฒิได้อบรมด้านการศึกษาเพิ่มเติม ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนในโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่โดยพัฒนาการสอนในชั้นเรียนขนาดใหญ่ขึ้น พร้อมนำสื่อเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ เช่น e-learning และ multi media และนโยบายรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนไม่เกิน 120 คนเข้าด้วยกันพื่อให้มีครูครบ 8 สาระการเรียนรู้ รวมถึงประหยัดครูและงบประมาณด้วย (;สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี. 2550: ออนไลน์)
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วจะพบว่าปัญหาเรื่องคุณภาพของครูอยู่ใน
ลำดับความสำคัญแรก ๆ จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็วเนื่องจากส่งผลกระทบถึงนักเรียนโดยตรง’ ทั้งนี้จากการศึกษาของอเล็ตตา บัวแมน ไนท์ (Knight, Arletta Buaman. 2006: online) พบว่าครูที่มีความสามารถจะต้องมีองค์ประกอบสามส่วน ได้แก่ความรู้ความสามารถในรายวิชาที่สอน ความเอื้ออาทรต่อผู้เรียน และความกระตือรือล้นในการปฏิบัติงาน ซึ่งความคิดดังกล่าวสอดคล้องกับผลการวิจัยของสมชาย บุญศิริเภสัช ที่ว่าพลังความสามารถในการทำงานของครูมีความสัมพันธ์กับความมุ่งหวัง ความรู้ ทักษะประสบการณ์ และอำนาจหน้าที่ของครู ซึ่งทั้งหมดนี้เรียกว่าปัจจัยพื้นฐานของครู ในขณะที่กระบวนการเสริมสร้างอำนาจ (ความสามารถ) ในการทำงานของครู ประกอบด้วยการทำงานอย่างมีอิสระ การมีส่วนร่วมในการทำงาน รวมถึงกระบวนการประเมินผลตัวเอง และความพร้อมรับการตรวจสอบสามารถเพิ่มอำนาจในการทำงานของครูได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(สมชาย บุญศิริเภสัช. 2545: บทคัดย่อ) ดังนั้นหากผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้นำผลจากการศึกษาวิจัยข้างต้นไปประกอบการพัฒนาครูอย่างเป็นระบบก็จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำงานของครู และผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ของนักเรียนในที่สุด
ปัญหาของครูผู้สอนนับเป็นประเด็นเร่งด่วนที่อยู่ในขั้นวิกฤติซึ่งภาครัฐและทุกภาคส่วนต้องประสานพลังในการแก้ไขและต้องดำเนินการอย่างจริงจัง รอบคอบ และต่อเนื่อง ทั้งนี้ยุทธศาสตร์ มาตรการ และแนวทางในการแก้ไขปัญหาทั้งหมดต้องพิจารณาในลักษณะองค์รวมตั้งแต่สถานภาพครู ทิศทางการผลิตครูในอนาคต รวมถึงการประกันคุณภาพของครูเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าครูจะมีศักยภาพเอย่างพียงพอในการขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูปการศึกษาไปสู่เยาวชนของชาติตามเป้าหมายของรัฐบาลได้อย่างแท้จริง
แหล่งอ้างอิง
1.สำนักงานกระทรวงศึกษาธการ
2.สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพึ้นฐาน หรือ สพฐ.
3.สำนักงานเขตพื้นที่ทางการศึกษา หรือ สพท.
4.สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข หรือ สธ.
5.สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา หรือ สอศ.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น