วันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ไล่ตงจิ้น ลูกขอทานผู้ไม่ยอมแพ้ต่อชะตาชีวิต

 ‘ไล่ตงจิ้น’ ผู้สร้างตำนานความสำเร็จจาก ‘ลูกขอทาน’

   เริ่มแรก ที่อยู่ของไล่ตงจิ้นไม่เป็นหลักแหล่ง ค่ำไหนนอนนั่น เขาเคยพักมาทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นใต้ต้นไม้ ใต้สะพาน ตลาดสด ใต้โรงงิ้ว ทุ่งนา ป่าร้าง ศาลา สวนกล้วย ไร่อ้อย โรงเพาะเห็ด หลุมหลบภัย แม้กระทั่งเล้าหมู สถานที่เขาอาศัยนอนบ่อยที่สุด คือ ศาลเจ้าในสุสาน เพราะคนตายไม่ดูแคลนเขา และไม่ไล่เขา ที่ยืน ที่นั่ง ที่นอนของเขาล้วนเป็นแผ่นดินของผู้อื่นทั้งสิ้น เวลาเอนกายลงนอนก็ผวาว่าเจ้าของจะมาไล่หรือไม่ ถ้าถูกไล่ ก็ต้องลุกไปหาที่นอนใหม่ เรียกได้ว่า หาที่ซุกหัวนอนจริงๆ เขาเริ่มมีบ้านเมื่อเริ่มเข้าเรียน เพราะย้ายไปเรื่อยๆ ไม่ได้อีกแล้ว บ้านของเขาดัดแปลงจากเล้าหมูร้าง มีพื้นที่ 7 ตารางเมตร สำหรับ 14 ชีวิต บ้านเขาล้อมรอบด้วยเล้าหมูที่มียังเลี้ยงหมูอยู่ นอกจากนี้ยังมีนก หนู แมลงสาบ ปลวก แต่พวกเขาก็อยู่ได้

อาหารการกินของเขา คือ ผลไม้ช้ำๆ ที่ขายไม่ได้แล้วจากแผงขายผลไม้ โดยไม่สนว่าจะถูกล้อเลียนจากเด็กคนอื่นๆ เขาเลือกเอาผลไม้ที่ช้ำน้อยที่สุดไปให้พ่อแม่ของเขาก่อน รองลงมาให้พี่น้อง ส่วนของตัวเองเลือกที่ช้ำมากที่สุด เขาไม่รู้ว่า เขาเอาชนะความอยากของตัวเอง ยอมกินน้อย และกินส่วนที่แย่ที่สุดได้อย่างไร ไม่รู้ว่าไปเรียนรู้ความรู้สึกกตัญญูกตเวทีมาจากไหน เพราะเวลานั้น เขายังไม่ได้เรียนหนังสือ และไม่มีใครสอน เขารู้จากจิตสำนึกว่าต้องทำแบบนี้ ข้าวบูด ไก่ที่เน่าก็ตัดเอาส่วนที่เน่าทิ้งไป เอาส่วนที่ยังพอกินได้มาต้มซุป แต่ทุกคนก็มีกระเพาะที่แข็งแกร่ง คล้ายกับมีภูมิต้านทาน ไม่มีใครท้องเสียเลย

เครื่องนุ่งห่มของพวกเขา ได้จากชุดกระสอบป่านสีขาวในงานศพ หรือชุดของคนตาย โดยจะได้ภายหลังจากไปช่วยงานศพของคนอื่น ถ้าชุดมีขนาดใหญ่ก็พับแขนพับขาเอา เขาไม่เคยนึกเรื่องแฟชั่นเลย

ศักดิ์ศรีของพวกเขา   ขบวนของพวกเขาเริ่มจากพ่อตาบอด เดินจูงลูกที่ยังเดินไม่ค่อยได้อยู่หน้า 1 คน หลัง 1 คน ตามด้วยไล่ตงจิ้น ที่มือซ้ายถือโซ่ที่ล่ามแม่ และมือขวาถือโซ่ที่ล่ามน้องชายคนโตที่ปัญญาอ่อน 2 คนนี้ ตีกันบ่อยๆ จนต้องเอาโซ่ล่ามไว้ พี่สาวแบกผ้าห่มขาดๆ เดินตามมา และจูงน้องชายคนเล็ก น้องที่ยังคลานอยู่ ไม่มีเสื้อผ้า ไม่ได้อาบน้ำ ก็คลานตามมา จับอะไรได้ก็เอาใส่ปาก ตัวก็เปื้อนดินทรายจับเป็นไคลหนาเตอะ เมื่อคนอื่นเห็น ก็มีปฏิกิริยาต่างกันไป บางคนสงสารจนน้ำตาไหล บางคนก็หัวเราะคิกคัก แถมมาแกล้งเอาหนังสติ๊กยิง เอาพลุไฟยิงใส่แม่ ไล่ตงจิ้นก็เอาตัวไปรับแทน บางคนก็มารังแก มาล้อ บางคนสงสารก็เอาเศษข้าวมาให้ คล้ายกับละครสัตว์ที่เร่แสดงเพื่อแลกรางวัลเป็นข้าวพอให้ยังชีพได้ คำว่า “ศักดิ์ศรี” สำหรับไล่ตงจิ้นแล้ว เป็นเพียงคำคำหนึ่งที่อยู่ในหนังสือแบบเรียน

                   “กว่าผู้คนจะแยกย้ายกันไป ฟ้าก็มืดแล้ว พวกเราเหนื่อยกันเกือบตาย แต่ยังหาสุสานที่พักพิงไม่ได้ ได้แต่รีบหาต้นไม้ใหญ่เป็นที่พัก แล้วนำเศษอาหารที่ได้รับมาแบ่งกันกิน” เมื่อยังหาที่พักไม่ได้ พวกเขาก็มาพักใต้ต้นไม้ หากฝนตก ก็ยังพอมีใบไม้ที่รับน้ำไว้ พอให้ทนได้ แล้วก็เอาเศษอาหารมาแบ่งกันกิน พอให้ผ่านไปอีกวัน ฤดูหนาวของประเทศไต้หวัน อุณหภูมิต่ำถึง 5 องศาเซลเซียส ดังนั้น การใช้ชีวิตไม่ได้ง่ายเหมือนเมืองไทย

                   เมื่อเรารู้สึกว่า คนอื่นพูดกับเราไม่เพราะ เรายิ้มให้คนนั้นแล้วเขาไม่ส่งยิ้มกลับมา หรือเรายกมือไหว้เขา แล้วเขาไม่ทันจะรับไหว้เรา แล้วทำให้เราคิดว่า ครั้งต่อไป ถ้าเราผ่านคนนี้ เราจะทำเฉย เพราะเรายิ้มให้ แล้วเขาไม่ยิ้มตอบ เขามาหมิ่นศักดิ์ศรีเรา หากเรายึดมั่นศักดิ์ศรีมากๆ ให้ลองทบทวนดูอีกครั้งว่า ศักดิ์ศรีของคนคืออะไร เป็นทิฐิมานะ ความถือตัว หรือเป็นคุณธรรม เป็นบุญที่มีอยู่ภายใน ศักดิ์ศรีอยู่ตรงไหนกันแน่

                   ไล่ตงจิ้นอยู่ในสถานะที่ไม่มีศักดิ์ศรีอะไรให้ถือ ชาติตระกูล ฐานะ ความรู้ รูปลักษณ์หน้าตา ไม่มีอะไรให้ถือเลย เมื่อมีอะไรให้ถือ ก็เกิดอติมานะ เมื่อไม่มีอะไรให้ถือ ก็ซึมเศร้า อารมณ์ตกต่ำ หมดอาลัยตายอยาก สู้ใครไม่ได้ เงยหน้าก็ไม่กล้าสู้ฟ้า ก้มหน้าก็ไม่กล้าสู้ดิน อยู่แบนติดดิน รอให้คนมาเหยียบ กลายเป็นอวมานะ ไม่ดีทั้ง 2 อย่าง ที่ดีคือเป็นอย่างเรา คือ รู้หลัก แล้วก้าวต่อไป ไล่ตงจิ้นเกิดมาไม่มีอะไรให้ถือดีเลย แต่ก็ไม่เคยย่อท้อ ค่อยๆ สู้ทีละก้าว จนสุดท้ายได้รับการยอมรับจากคนทั้งแผ่นดินไต้หวัน ไม่เพียงเท่านั้น หนังสือของเขายังรับการตีพิมพ์เป็นหลายสิบภาษาทั่วโลก คนที่ได้เห็นชีวิตของเขา จะได้เห็นว่าเขาเป็นคนสู้ชีวิต ดังที่เราได้นำมาเป็นตัวอย่าง ไล่ตงจิ้นเกิดเป็นลูกขอทานที่ไม่มีราคาค่างวดอะไร เมื่อเขาไม่ยึดติดกับศักดิ์ศรีจอมปลอม แต่จับถูกหลักว่า ศักดิ์ศรีที่แท้จริงอยู่ที่ความพยายาม ความมุมานะ การตั้งใจฝึกฝนตนเอง สุดท้ายเขาค่อยๆ ก้าวทีละก้าว อย่างช้าๆ จนกระทั่งก้าวไปอยู่บนยอดที่คนทั้งชาติจับตามองดูได้

เรื่องแม่ของไล่ตงจิ้น มีวันหนึ่งกลับถึงบ้าน แล้วโซ่ที่ล่ามแม่หลุด แม่หายไป น้องชายก็หายไป เขาและพี่สาวช่วยกันตามหาทั้งคืน จนไปเจอแม่อยู่ในบ่อ เขากระโดดลงไปในบ่อเพื่อจะช่วยแม่ขึ้นมา แม่ไม่ยอมขึ้นมาเพราะนึกว่าเป็นคนร้าย เขาบอกแม่ว่า นี่คือเขาเอง แต่ก็ไม่สามารถเรียกสติแม่กลับมาได้ แม่มองเขาด้วยสายตาว่างเปล่า 2-3 นาที แล้วขัดขืนไม่ยอมขึ้นจากบ่อ สุดท้ายเขายืนอยู่กลางบ่อน้ำ ปล่อยโฮ แล้วกอดแม่ไว้แน่น แม่จะทุบจะตีอย่างไรก็ไม่ถอยไม่หลบ ปากก็ตะโกนร้องไห้ เรียกแม่ และบอกว่า ตนเป็นลูกแท้ๆ ของแม่ เป็นลูกที่แม่คลอดออกมา บางครั้งเขาแค้นใจเหลือเกินว่า ในโลกนี้ มีแม่สักกี่คนที่จำลูกตัวเองไม่ได้ แล้วทำไมคนนั้นต้องเป็นแม่ของเขาด้วย ถึงเขาเจอแบบนี้ เขาก็ไม่ย่อท้อ และดูแลแม่ตลอดชีวิต ก่อนพ่อจะเสียชีวิต ได้ฝากให้เขาดูแลแม่กับน้องชายที่ปัญญาอ่อน เพราะคนอื่นยังเอาตัวรอดได้ เขารับปากพ่อ เขาขอทานเพื่อเลี้ยงแม่ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ กลับมาก็ทำงานล่วงเวลาต่อ ได้นอนเพียงวันละไม่กี่ชั่วโมง เมื่อเขากลับมาถึงบ้าน เห็นแม่ทะเลาะกับน้องชาย ส่งเสียงอึกทึกราวกับห้องจะถล่มทลาย แม้จะตกใจ แต่เขาจะทำอะไรก็ไม่ได้ ทำได้เพียงอดทน การเลี้ยงดูแม่ของไล่ตงจิ้น จึงไม่เหมือนคนทั่วไปที่เพียงแค่รับท่านมาอยู่ด้วย แล้วให้ข้าวให้น้ำ แต่เขาดูแลแม่และน้องชายที่ปัญญาอ่อน ความยากนั้นย่อมมากกว่า จะคุยก็คุยไม่ค่อยรู้เรื่อง และยังอาละวาดบ่อยๆ การดูแลจึงยาก แต่เขาก็ต้องกัดฟันสู้ เขามีความอดทนและความกตัญญูโดยที่ไม่มีใครสอน สิ่งเหล่านี้ซึ้งเข้ามาอยู่ในใจของเขา โดยหล่อหลอมจากสิ่งที่เจอ และเป็นวิถีที่เขาปฏิบัติ

ความรับผิดชอบ ตอนเป็นขอทาน จัดว่าสบายที่สุด คือ เมื่อไปขอทานกลับมาแล้ว เขาก็มีหน้าที่แบ่งข้าวให้ทุกคนกิน โดยเริ่มจากกลุ่มที่กินข้าวได้เองก่อน คือ พ่อ แม่ และน้องๆ ที่โตแล้วส่วนน้องสาว น้องชายที่ยังเล็กอยู่ เขาและพี่สาวแบ่งกันป้อน ส่วนทารกน้อยที่ไม่มีนมแม่กิน ป้อนข้าวก็กลัวจะติดคอตาย ก็เอาข้าวมาเคี้ยวให้ละเอียด แล้วค่อยๆ ป้อน หลังจากนั้น ก็จัดการปัสสาวะอุจจาระของน้องๆ ที่เลอะเทอะ รวมถึงของแม่และน้องชายที่ปัญญาอ่อนด้วย แล้วขนเสื้อผ้าไปซัก เปลี่ยนผ้าอ้อมให้น้องสาว น้องคนเล็กเล่นอุจจาระตัวเอง แล้วจะเอาเข้าปาก ก็รีบไปห้าม น้องอีกคนลื่นหกล้มทับอุจจาระ จะไปปลอบน้องชาย น้องสาวคนโตอาละวาดเพราะหิว นี่คือ หน้าที่การงานในบ้านที่เขาต้องดูแลตลอดภายหลังจากขอทานเสร็จ

                     “ผมมองดูสภาพความวุ่นวายที่ดูเหมือนจะไม่มีทางจบสิ้นแล้ว รู้สึกรันทดท้อเป็นที่สุด ผมปาของในมือลงกับพื้นอย่างเหลืออด แล้วก็พลอยร้องไห้ตามไปด้วย ภาระที่แบกไว้นี้มันหนักเหลือเกิน จนบางครั้งผมคิดจะหนีไป แล้วทิ้งทุกอย่างที่นี่เสีย ไปตายเอาดาบหน้าคนเดียว แต่พอคิดอย่างนี้ขึ้นมาทีไร ผมก็ใจอ่อนทุกที นึกถึงเมื่อคืน ตอนที่ช่วยเปลี่ยนผ้าอ้อมให้น้องสาวคนเล็ก ตอนนี้น้องเริ่มจำคนได้แล้ว น้องมองหน้าผมแล้ว เขาย่นจมูกขึ้น ยิ้มน้อยๆ ให้ผม น่ารักที่สุดเลย สิ่งนี้เองที่สอนให้ผมรู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า หัวใจละลาย ความรู้สึกเช่นนี้ยังจะมีสิ่งอื่นใดในโลกมาแลกได้อีกได้หรือ ว่าแล้ว ผมก็ยกมือเขกหัวตัวเองแรงๆ ถือชามที่บรรจุอาหารอยู่เต็ม สาวเท้าก้าวยาวๆ อยากกลับถึงบ้านไวๆ” ตอนที่เขาทำหน้าที่เช่นนี้ เขาอายุเพียง 7-8 ขวบเท่านั้น เขาต้องฝ่าพายุไปเคาะประตูตามบ้าน แม้จะถูกด่า ถูกไล่ เขาก็ทนเคาะประตูไปเรื่อยๆ จนกว่าจะขออาหารมาได้ เขาหาอะไรมาคลุมอาหารไม่ให้แฉะ แล้วเอากลับไปที่บ้าน

                     อายุเป็นเพียงส่วนประกอบ ส่วนที่สำคัญ คือ สำนึกความรับผิดชอบ ภาระหน้าที่ที่มีต่อตัวของเราเอง ต่อครอบครัว ต่อหมู่คณะ ต่อวัด ต่อพระศาสนา ถ้าใครคิดเป็น ก็จะเห็นอะไรที่กว้างไกล ใจก็จะสูงขึ้น ใครที่คิดไม่เป็น ก็จะเห็นแคบลง เหลือแค่ตัวเองคนเดียว หวังให้ทุกอย่างรอบตัวแปรเปลี่ยนไปอย่างใจตัวเองปรารถนา คนที่มองเป็น จะยอมรับสิ่งแวดล้อมอย่างที่มันเป็น แล้วมองว่า ตัวเรามีหน้าที่รับผิดชอบอย่างไร และจะทำอย่างไรให้ทุกอย่างดีขึ้น ศูนย์กลางในการคิดไม่เหมือนกัน จะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง หรือ เอาส่วนรวมเป็นศูนย์กลาง ถ้าคิดเป็น มีสัมมาสังกัปโป คิดแล้วใจสูง คิดแล้วใจใส คิดแล้วมีกำลังใจในการพัฒนาตัวเองในการทำความดี ถ้าไม่มีสัมมาสังกัปโป ยิ่งคิด ใจยิ่งหดเล็กลง คิดแล้วใจหมอง การแยกว่าเป็นสัมมาสังกัปโปหรือมิจฉาสังกัปโป ดูได้จาก เมื่อเราคิด เราพูด ยิ่งคิด ความซึม เซ็ง เบื่อ กลุ้ม ยิ่งเพิ่ม ใจยิ่งหมอง ไม่มีกำลังใจทำความดี แสดงว่า คิดผิดแล้ว หรือถ้าเราคุยกับใคร แล้วรู้สึกอย่างนี้ ให้ห่างคนเหล่านั้นไว้ ถ้าคิด พูด ทำ แล้วทำให้ใจใส มีกำลังใจทำความดี แสดงว่า ถูกต้อง ผลที่ออกมา สามารถบอกเหตุได้

พี่สาวของไล่ตงจิ้น เสมือนภาพตัวแทนของแม่ในใจของเขา เพราะแม่ของเขาปัญญาอ่อน อยู่ในภาวะที่เขาต้องดูแลแม่มากกว่า พี่สาวเป็นคนที่เขาปรึกษาได้ ปรับสารทุกข์สุกดิบกันได้ พี่สาวอายุมากกว่าเขา 3-4 ปี เขารักพี่สาวมาก เวลาไปขอทานก็ไปขอทานด้วยกัน เวลาตัวเองไปขอทาน ก็ให้พี่สาวดูแลบ้าน มีอะไรก็ช่วยกันตลอด วันหนึ่ง เขากลับมาจากโรงเรียน เห็นพี่นั่งร้องไห้ เขาถามว่า ไม่สบายหรือเปล่า ถูกใครรังแกหรือเปล่า พี่สาวก็ไม่ยอมบอก แล้วก็แยกย้ายกันนอนพักผ่อน เช้าวันรุ่งขึ้น เขารีบตื่นไปโรงเรียน พี่สาวยังไม่ตื่น จึงยังไม่ได้คุยกัน พอกลับมาจากโรงเรียน พี่สาวไม่อยู่ที่บ้านแล้ว เขามารู้ความจริงภายหลังจากพ่อว่า พ่อขายพี่สาวให้กับซ่องโสเภณี เพื่อเอาเงินมาส่งให้เขาเรียนหนังสือและจุนเจือครอบครัว เขาตกใจมาก และคิดว่า จะไม่เรียนแล้ว พ่อบอกว่า ถ้าเขาทิ้งการเรียน ก็เท่ากับทรยศต่อพี่สาว เขาจึงต้องกลับไปเรียนต่อ เมื่อเขากลับจากโรงเรียน ก็รีบมาช่วยพ่อขอทาน เขาต้องทำเวลา เพราะสุสานที่เขาพัก อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 10 กม. ขณะที่พ่อกำลังขอทานอยู่ข้างถนน เขาก็นั่งอ่านหนังสือ ทำการบ้านอยู่ข้างๆ โดยต้องระวังตำรวจไปด้วย ถ้าตำรวจมา ต้องรีบพาพ่อวิ่งหนีเนื่องจากตำรวจจะจับ เขาสอบได้ที่ 1 ตลอดตั้งแต่เรียน ป.1 ถึง ป.6

                      ช่วงที่เขาอยู่ ป.3 มีการประกวดเขียนพู่กันคัดลายมือ เขาอยากไปแข่งบ้าง แต่ไม่มีเงินซื้อพู่กัน จึงเอากิ่งไม้มาซ้อมเขียน แต่ไม่รู้ว่าจะเขียนอย่างไร เขาไปเปิดดูในร้านหนังสือ เพราะไม่มีเงินซื้อหนังสือ แอบจำออกมา แล้วฝึกเขียนทีละตัว เขียนแล้ว เขียนอีก ใกล้ถึงเวลาแข่ง ก็เอาเงินไปซื้อพู่กันที่ราคาถูกที่สุด จุ่มหมึกเขียนแต่ละครั้ง ขนพู่กันก็หลุดออกมาเป็นเส้นๆ ผลคือ เขาแข่งชนะตั้งแต่ ป.3 ถึง ป.6 นั่นคือ อยู่ที่ความวิริยะอุตสาหะ ความสู้

                       เขาบอกว่า เขาเสียเวลาอยู่ที่โรงเรียนทั้งวัน ดังนั้น เวลาที่เขากลับมาแล้ว จะปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ไม่ได้เลยซักวินาที เมื่อถึงเวลาเลิกเรียน เขาต้องถือกระเป๋ารีบวิ่งกลับบ้าน รีบถอดชุดนักเรียน ถอดรองเท้านักกีฬาซึ่งเป็นรองเท้าเพียงคู่เดียวของเขาออก “ ตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา ผมเพิ่งเคยซื้อชุดชุดนี้ และรองเท้าคู่นี้เป็นครั้งแรก ผมจึงกลัวว่ามันจะขาดและสกปรกเร็วเกินไป แล้วเปลี่ยนเป็นชุดท่านชายตกยาก ซึ่งเป็นเสื้อผ้าของผู้ตายที่ได้รับแจกมาจากงานศพ เดินเท้าเปล่า สะพายกระเป๋านักเรียน เดินจูงพ่อออกไปขอทานตามที่ต่างๆ ”

การเรียนและรางวัลที่เขาได้รับ ตั้งแต่วันที่เขาไปรายงานตัว เด็กคนอื่นมีพ่อแม่มาส่ง ร้องไห้กระงอแงไม่อยากมาเรียน จะกลับบ้าน แต่เขามาโรงเรียนคนเดียว ครูถามว่า ทำไมมาคนเดียว พ่อแม่ไปไหน เขาตอบว่า พ่อแม่เขามาไม่ได้ พ่อเขาตาบอด แม่เขาปัญญาอ่อน ทุกคนในห้องและพ่อแม่ของคนอื่นๆ ต่างตกตะลึง ถึงตอนจะกรอกอาชีพผู้ปกครอง เขาก็ไม่รู้จะกรอกอย่างไร เขาถามครูว่า ครูครับ พ่อผมเป็นขอทาน ผมจะเขียนอย่างไรดีครับ ครูจึงบอกให้เขียนว่า ทำอาชีพส่วนตัว เขาเขียนไม่เป็น เพราะไม่ได้เรียนชั้นอนุบาลมาก่อน ครูจึงสอนเขาให้เขียน หลังจากผ่านไปไม่กี่สัปดาห์ มีการเลือกหัวหน้าห้อง เพื่อนๆ เลือกเขาให้เป็นหัวหน้าห้อง เพราะความรับผิดชอบและความเป็นผู้นำที่เขามีมาตลอด ห้องของเขาเป็นแชมป์ด้านความสะอาด และด้านอื่นๆ มาตลอด เขาจึงเป็นที่ยอมรับของเพื่อนร่วมชั้นมากขึ้นเรื่อยๆ

                      “ผมอ่านหนังสืออย่างบ้าคลั่งทุกวัน แม้บางคืนจะได้นอนเพียงไม่ถึง 3 ชั่วโมงก็ต้องตื่น แต่ผมไม่เคยละทิ้งโอกาสใดๆ ที่จะทำให้ผมได้อ่านหนังสือ ในที่สุด ผลการสอบวัดผลของเทอมแรกออกมา ปรากฏว่า ผมสอบได้คะแนนเต็มทุกวิชา และสอบได้ที่ 1 ของนักเรียนทั้งระดับชั้น ผมยังจำได้ถึงวันประชุม ครูใหญ่เป็นผู้ยืนมอบรางวัลอยู่ที่หน้าเวที ตอนที่ครูใหญ่ประกาศว่า ขอเชิญเด็กชายไล่ตงจิ้น ประถม 1 ห้อง ข ให้ออกมารับรางวัล ผมตื่นเต้นดีใจจนตัวสั่น ขนลุกซู่ไปทั้งตัว ผมอยากจะตะโกนออกมาเหลือเกินว่า ผมเองครับ ผมวิ่งออกไปรับเกียรติบัตรและรางวัลด้วยความปลาบปลื้มใจยิ่ง ในวินาทีที่มือผมได้สัมผัสกับเกียรติบัตร ผมรู้สึกราวกับว่าไฟฟ้าช้อต มือผมสั่นจนแทบจะถือเกียรติบัตรบางๆ แผ่นนั้นไม่ไหว วันเวลาแห่งความพากเพียรที่สู้อดทนยืนท่องหนังสือตามข้างถนน คุกเข่าทำการบ้านบนพื้นดินขรุขระ ความอุตสาหะของผมไม่ได้สูญเปล่าเลย ผมสอบได้ที่ 1 แล้ว ตอนที่ผมกำลังหมุนตัวกลับลงมาจากเวทีนั้น คณะครูอาจารย์และนักเรียนต่างก็คึกคักกันสุดขีด เสียงตบมือแสดงความชื่นชมดังสนั่นหวั่นไหว ในโรงเรียนเล็กๆ แห่งนี้ แทบไม่มีใครไม่รู้สภาพครอบครัวของผม ผมรู้ว่าพวกเขากำลังเอาใจช่วยผม ไม่เพียงแต่เฉพาะเรื่องเรียนเท่านั้น แต่ยังช่วยให้กำลังใจผม ให้มีพลังใจที่จะต่อสู้กับชีวิตในวันข้างหน้าด้วย”

                       พอเขากลับถึงบ้าน ความดีใจค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ ถ้าเป็นเด็กทั่วไป กลับไปบ้าน ก็จะนำรางวัลไปอวดพ่อแม่ แล้วพ่อแม่ก็ชื่นชมและไปคุยโม้ให้คนอื่นฟัง เขาคิดว่า ถ้าคุยให้แม่ฟัง แม่จะรู้เรื่องไหม “ผมกอดเกียรติบัตรไว้แน่น ยืนมองดูแม่ที่กำลังเล่นดินทรายอยู่ที่พื้นหน้าบ้าน ผมรู้สึกสะท้อนใจขึ้นมาทันที เกียรติบัตรใบนี้ก็คงเป็นเพียงแค่เศษกระดาษธรรมดาใบหนึ่งสำหรับแม่เท่านั้น” เขาพูดกับพ่อว่า “พ่อครับ พ่อลองจับกระดาษแผ่นนี้ดูสิครับ” พ่อคลำดูอยู่นิดหนึ่ง ก่อนจะเงยหน้าขึ้นอย่างสงสัย “พ่อครับ นี่เป็นเกียรติบัตรนะครับ เป็นใบประกาศผลสอบได้ที่ 1 ของผมไงครับพ่อ” แม้แต่พ่อจะตอบว่า “อือ” ซักคำก็ยังไม่มี พ่อใช้ไม้เท้าประคองตัวลุกขึ้นยืนช้าๆ “ผมคิดว่า พ่อน่าจะลูบหัวผมซักหน่อย หรืออย่างน้อยก็น่าจะพูดซักคำว่า เก่งจริง หรือไม่ก็พูดว่า เยี่ยมไปเลย ก็ยังดี ผมเงยหน้าขึ้นมองพ่อ ท่านกระแอมเหมือนตั้งท่าจะพูด ผมรอคอยท่านด้วยสายตาเปี่ยมหวัง พ่อพูดแล้ว พ่อพูดว่า รีบไปหุงข้าวซะ เดี๋ยวต้องออกไปขอทานกันแล้ว พูดจบ พ่อก็หมุนตัวเดินออกไปจากห้องทันที ผมรอจนท่านเดินออกไปจากห้องแล้ว จึงมีกำลังเปล่งคำนี้ออกมาได้อย่างยากเย็น ครับ ผมจะไปหุงข้าวเดี๋ยวนี้ล่ะ ทำไมถึงคัดจมูกจังนะ เอาละ เดี๋ยวก็ต้องออกไปเป็นขอทานเหมือนเดิมแล้ว ทำไมมันช่างเจ็บแปลบในใจอะไรเช่นนี้ ครับ ผมเต็มใจทำทุกอย่างอยู่แล้วล่ะ แต่เกียรติบัตรใบนี้ ผมจะถือกลับมาให้ใครชื่นชม ไม่รู้ว่าผมเกิดมุทะลุอะไรขึ้นมา จู่ๆ ก็วิ่งออกไปนอกประตูรั้ว นั่งคุกเข่าลงกับพื้น สองมือประคองใบเกียรติบัตรเอาไว้ แหงนหน้าขึ้นมองฟ้า แล้วผมก็อ่านตัวหนังสือบนเกียรติบัตรดังๆ ชัดๆ ทีละตัว เกียรติบัตรนี้ ขอมอบเพื่อเป็นเกียรติแก่เด็กชายไล่ตงจิ้น นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ห้อง ข ที่สอบได้ที่ 1 ในการสอบครั้งที่ 1 เทอมที่ 1 ปีไต้หวันที่ 57 ขอมอบเกียรติบัตรไว้ ณ โอกาสนี้ เพื่อเป็นเกียรติและกำลังใจ พอผมอ่านจบรอบแรก ก็ยกแขนเสื้อขึ้นเช็ดน้ำมูกและน้ำตา แล้วก็เริ่มอ่านอีก” นี้คือรางวัลแรกในชีวิตของเขา ตั้งแต่ ป.1 ถึง ป.6 เขาได้เกียรติบัตรมา 80 กว่าใบ จนข้างฝาไม่พอจะติด ทั้งการเรียน การเขียนพู่กัน งานศิลปะ งานกีฬา

                      “นับแต่ที่ได้รางวัลเป็นต้นมา เหมือนเห็นแสงสว่างร่ำไรท่ามกลางความมืด เพชรที่แท้ ความขยันหมั่นเพียร ตั้งใจเรียนหนังสือ ก็นำมาซึ่งเกียรติยศ ที่แท้ ชื่อเสียงเหม็นโฉ่ของการขอทาน นานกว่า 30 ปีของพ่อกับแม่ ถูกลบล้างได้ ด้วยเกียรติยศบางๆ แผ่นแล้วแผ่นเล่า เด็กขอทานคนหนึ่งที่ถูกหัวเราะเยาะมาเป็น 10 ปี พลันเกิดมีความมั่นใจในตัวเองขึ้นมา มีศักดิ์ศรีน่าเคารพขึ้นมาทันควัน เหมือนดอกไม้สวยสดงดงามที่โผล่พ้นโคลนตม ผมตั้งปณิธานในใจอย่างแน่วแน่ว่า ซักวัน ผมจะต้องสลัดคราบขอทานตัวเหม็นและความอับโชคให้หมดไปจากครอบครัวเราให้จงได้ และจะไม่ยอมให้ใครมาดูถูกพวกเราได้อีก ถ้าเริ่มนับตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 1 จนถึงจบชั้นประถมปีที่ 6 เกียรติบัตรที่ผมเคยได้รับรวมกันทั้งหมดก็ประมาณ 80 กว่าใบได้ ทั้งรางวัลสอบใหญ่ สอบย่อย รางวัลนักเรียนตัวอย่าง รางวัลประกวดเขียนพู่กัน รางวัลงานวาดภาพศิลปะ ตลอดจนรางวัลกีฬาแทบทุกประเภท ผมก็ชนะคนอื่นแทบทั้งนั้น ในที่สุด ความมุมานะของผม ก็เป็นที่ล่ำลือกันไปทั่วละแวกบ้าน ใครๆ ก็รู้ว่า ลูกของวูซื่อ เรียนหนังสือเก่งเป็นที่หนึ่ง เวลาสอนลูกหลาน เขามักจะบอกว่า ดูไอ้ลูกขอทานคนนั้นสิ พ่อแม่เขาทั้งพิการ ทั้งไม่รู้หนังสือ แถมยังเป็นขอทานอีก ออกลูกมาทั้งขยันและกตัญญูอย่างนี้ เราต้องรู้จักเอาอย่างอาจิ้นนะ แต่ก่อน พ่อไปไหนมาไหน ก็มีแต่คนรังเกียจ เดี๋ยวนี้เดินไปที่ไหน ใครๆ ก็รู้จัก ไม่ว่าจะเป็นคนขายผัก เถ้าแก่ร้านของชำ อาซิ้มข้างบ้าน ต่างก็พากันยกนิ้วหัวแม่มือชูขึ้นให้พ่อมาแต่ไกล ตะโกนปาวๆ ว่า วูซื่อเอ้ย ลูกแกนี่ยอดไปเลย ที่หนึ่งเชียวนะเนี่ย พวกรุ่นพี่ที่เคยกลั่นแกล้งหัวเราะเยาะผม ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงท่าทีเป็นละอายต่อผมขึ้นมาบ้าง พอเห็นผม เขาก็เพียงแต่ยิ้มน้อยๆ ให้ แล้วก้มหน้าเดินผ่านไป เพื่อนบางคนถึงกับคำนับผมก่อน”


‘ลูกขอทาน’ ขึ้นรับรางวัล 1 ใน 10 บุคคลดีเด่นแห่งไต้หวันประจำปี 1999

                       นิยามของคำว่า “ศักดิ์ศรี” ถ้าดูจากชีวิตของเขา ก็จะมองออกว่า ศักดิ์ศรีจริงๆ เป็นอย่างไร แม้จะเป็นในภพนี้เป็นหลักก็ตาม ประโยชน์ในชาตินี้ เพราะสู้มาขนาดนี้ เมื่อเรามีโอกาสได้มาศึกษาธรรมะได้ถึงขนาดนี้ เราเข้าใจอะไรมากกว่าเขา ส่วนความลึกซึ้งเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เขายังเข้าใจไม่มากเท่าเรา รู้ก็เพียงแค่สิ่งที่พบเห็นได้ในภพนี้ แต่เขาทำอย่างถึงที่สุด เอาชีวิตเป็นเดิมพัน แล้วก้าวมาถึงจุดนี้ เมื่อดูตัวอย่างนี้แล้ว ตั้งแต่นี้ต่อไป เราทุกคนไม่ควรมีคำว่าบ่น พร่ำเพ้อรำพันว่า ทำไมถึงต้องเป็นเรา ให้ลบไปจากพจนานุกรมของเรา ทำไมนะ ไม่ยุติธรรมเลย พี่เขาทำกับเราอย่างนี้ได้อย่างไร เพื่อนทำไมทำกับเราอย่างนี้ ตัดพ้อต่อว่า โชคชะตาราศีต่างๆ ทั้งปวง รู้สึกว่าไม่ถูกใจ ให้ลบไปเถอะ ที่เราอยู่ มันคือสวรรค์แท้ๆ ถ้าเทียบกับที่ไล่ตงจิ้นมีต้นทุนอยู่ ให้เรามีความอดทน ความวิริยะอุตสาหะ ความพากเพียรพยายามในการฝึกตัวเองในการทำหน้าที่งานทางพระศาสนา ถ้าเราคิดเช่นนี้ เราจะสร้างบารมีอย่างมีความสุขตลอด ทุกวันที่ผ่านไป เห็นอะไรก็ดีไปหมด เหมือนเราอยู่บนสวรรค์แท้ๆ สวรรค์บนดิน มองว่า สิ่งที่เรามีก็สุดยอดแล้ว จะหวังให้ทุกอย่างดีอย่างใจ 100% ในโลกนี้ หาได้ยาก ไม่มีทางเป็นไปได้ ถ้าไปมองส่วนที่พร่อง ส่วนที่ขาด มองเท่าไร ก็ยิ่งกลุ้ม ถ้ามองส่วนที่เรามีอยู่ตอนนี้ จะเห็นว่าเหลือเฟือ ถ้าเราตั้งใจฝึกตัวเอง ตั้งใจทำงานเพื่อพระศาสนา งานจะไปได้อย่างรวดเร็ว ปัญหาจะน้อย การกระทบกระทั่งจะน้อย เมื่อแต่ละคนไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง เป็นเงื่อนไข มันก็จบแล้ว มันจะประสานกันได้สนิท ศักดิ์ศรีไม่ใช่ความแข็งกระด้าง เพราะนั่นไม่ใช่ศักดิ์ศรี แต่คือ อติมานะ ศักดิ์ศรีคือดวงบุญภายใน คุณธรรมภายใน นุ่มนวล ไม่มีการกระทบกระทั่ง ไม่มีความแข็งกระด้าง มีแต่ความอ่อนโยน และความนิ่มนวล มุ่งเน้นการฝึกตัวเองให้มีคุณธรรมสูงขึ้น

                        ไล่ตงจิ้นเกิดปี พ.ศ.2502  ถือเป็นบุคคลร่วมสมัย เขาทำได้ แล้วทำไมลูกพระธัมจะทำไม่ได้ เราต้องเดินหน้ายืนหยัดทำให้ได้ เพราะเป้าหมายของเรายิ่งใหญ่กว่านี้ พวกเราทุกคนมีบุญที่ได้มาพบพระเดชพระคุณหลวงพ่อ เราจึงได้รู้ว่า เราอยู่ตรงนี้ เราจะไปที่ไหน ซึ่งอีกหลายคนไม่มีโอกาสรู้

                        ไล่ตงจิ้น มีความวิริยะอุตสาหะ แต่เมื่อเทียบกับพวกเราแล้ว เรามีเนื้อนาบุญ อยู่ในแหล่งบุญ ได้มีโอกาสให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ถ้าเราเอาความพากเพียรวิริยะของไล่ตงจิ้นมาใช้กับเราซึ่งมีโอกาสมากกว่า ก็จะต่อยอดกันไปอีก บุญที่เราจะสร้างจะทวีคูณเป็นสิบเท่า ร้อยเท่า ดังนั้น เราไม่ควรหยุดอยู่ตรงนี้

                        ภาษาจีนมีอยู่ว่า “เข่อสี” แปลเป็นไทยได้ว่า รู้จัก ตระหนัก ดีใจในโอกาสที่มาถึงมือ สิ่งที่ตนเองมีอยู่ ได้มีโอกาสอะไรแล้วมีความปีติเหลือเกิน แล้วรีบใช้โอกาสนั้นให้เป็นประโยชน์ ไม่ดูเบา แล้วปล่อยให้โอกาสหลุดลอยไป หลายคนมาเสียดายตอนสายไป เราต้องไม่เป็นอย่างนั้น ต้องรู้จัก “เข่อสี” คือ ใช้โอกาสให้เต็มที่ในการสร้างบุญ สร้างบารมี ในการฝึกฝนอบรมตัวเอง

                       โลกโหยหาบุคคลตัวอย่าง ถ้ามีบุคคลตัวอย่างเกิดขึ้นมามากๆ จะทำให้โลกสว่างขึ้น ผู้คนใจสูงขึ้น เมื่อได้สัมผัสกับชีวิตของบุคคลเหล่านี้ ตอนหลัง ไล่ตงจิ้นจะเรียนต่อชั้นมัธยม แต่พ่อไม่ให้เรียนต่อ เพราะไม่มีเงิน เขาก็พยายามทำงานเก็บเงินมาให้พ่อ จนกระทั่งพ่อใจอ่อน ยอมให้เขาเรียนต่อได้ พอจบมัธยม ก็คิดว่า คงเรียนต่อมหาวิทยาลัยไม่ไหว เพราะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะห่างบ้าน เขาจึงเรียนสายวิชาชีพ แล้วทำงานในบริษัท เขาก่อร่างสร้างบริษัทมากับเถ้าแก่ เริ่มจาก 2 คนจนบริษัทใหญ่ขึ้น เขาได้เป็นหัวหน้าบริหารสาขาทั้งหมด ก็ประสบความสำเร็จ

                       พอเขาจะไปจีบสาว พ่อแม่ของผู้หญิงบอกว่า แกจะไปแต่งงานกับลูกขอทานเหรอ หัวเด็ดตีนขาดก็ไม่ยอม เพราะเสียชาติตระกูล แต่ทั้งสองคบหากันนาน 2 ปีจนพ่อแม่ของผู้หญิงยอมให้แต่งงาน มีลูก และดูแลทุกอย่างอย่างดี เขาซื้อบ้านของตัวเองได้ ไถ่พี่สาวออกมาได้ และซื้อบ้านอีกหลังให้พี่สาวอยู่ใกล้ๆ ส่วนแม่และน้องชายที่ปัญญาอ่อนก็ดูแลอยู่ในบ้าน เขาส่งเสียน้องๆ คนอื่นจนเรียนจบและแยกครอบครัวออกไป เขาได้สร้างสิ่งต่างๆ ที่เน้นเรื่องความกตัญญู เช่น สวนกตัญญู ชีวิตของเขาที่ผ่านมาทั้งหมด ก็กลายเป็นประวัติ เขาได้รับคัดเลือกเป็นบุคคลตัวอย่าง 1 ใน 10 คนในปี พ.ศ.2542 เขาได้รับความชื่นชม ได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรตามที่ต่างๆ จนเขาได้เขียนหนังสือของเขาขึ้นมา

คุณเป็นโรคประสาท รึเปล่า ? ??

โรคประสาท(Neurosis) คือ อะไร?... 

 คือ ความผิดปกติของจิตใจ
 ที่มักเกิดจากความคับข้องใจ ผสานกับความขัดแย้งในใจที่สั่งสมมาตั้งแต่เล็กจนเติบใหญ่ 
และความขัดแย้งคับข้องใจนี้ โดยมากเกี่ยวเนื่องกับเรื่องทางเพศและความก้าวร้าว

สิ่งที่ต่างจากโรคจิตก็คือ  โรคประสาทมักจะ....
1...ผู้ทุกข์มักจะรู้ตัวว่า ตนเองนั้นผิดปกติ  มีความเครียด หวาดกังวล 
หรือรู้สึกเศร้ามากจนเกินไป
2... มักไม่มีอาการหลงผิด ประสาทหลอนหรือเห็นภาพลวงตา
3... ยังคงพอที่ จะเรียนหนังสือ-ทำงาน-ทำกิจกรรมส่วนตัว 
หรือพอจะอยู่ในสังคมกับคนอื่นได้ แต่มักจะไม่ดีไม่ราบรื่นเท่าผู้ที่ปกติทั่วไป
4... บุคลิกภาพมักไม่เปลี่ยนหรือเสียไปแทบทั้งหมดเหมือนผู้ป่วยด้วยโรคจิต

โรคประสาท แบ่งออกได้หลายประเภท เท่าที่พบเห็นได้ค่อนข้างบ่อย
(ทั้งในหนังและในชีวิตจริง)   เช่น ....  
     1 ) โรคประสาทหวาดกังวล(Anxiety Neurosis) 
     2 ) โรคประสาทย้ำคิดย้ำทำ(Obsessive-Compulsive Reaction)
     3 ) โรคประสาทฮีสทีเรียHysterical Neurosis 
     4 ) โรคประสาทซึมเศร้า(DepressiveNeurosis ) 
     5 ) โรคประสาทกลัว(PhobiaNeurosis)
  และ.....ฯลฯ.................

เป็นไงครับ...แค่คำจำกัดความและจัดประเภทก็เหนื่อยทั้งคนเขียนและคนอ่าน
แต่ถึงยังไงก็ขอแนะนำว่า ให้อ่านทวนอีกสัก 1เที่ยว แล้วอย่าเพิ่งรีบปวดหัวนะครับ 
เพราะตั้งใจว่าจะยกมาคุยกันแค่ 2ประเภท ซึ่งมีสอดแทรกอยู่ในภาพยนตร์หลายเรื่อง
เหลือเกิน  นั่นคือ  โรคประสาทย้ำคิดย้ำทำ และ ซึมเศร้า...

“พูดประโยคเดียวกันซ้ำๆเหมือนคุมตัวเองไม่ได้ ...วนเวียนอยู่กับการฟอกสบู่ถูมือวันละหลายๆครั้ง 
จนมือแตกเลือดซิบ ...คิดวนเวียนในเรื่องรังเกียจความสกปรก คิดซ้ำๆในเรื่องของเชื้อโรคอย่างหนัก 
ทำให้ถึงกับแก้ผ้าโทงๆและเอากล่องทิชชูมาสวมแทนรองเท้า  เพราะกลัวเชื้อโรคติดเสื้อผ้า และรองเท้า....”
พฤติกรรมของโฮเวิร์ด ฮิวจ์ ในThe Aviator

6 วิธีรับมือไม่ให้ลูกเอาแต่ใจตัวเอง

เด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 6 ขวบ ลูกของเราจะเรียนรู้แบบลองผิดลองถูก ซึ่งเด็กในช่วงปฐมวัยนี้ยังไม่สามารถใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหา แต่ลูกจะคอยสังเกตการตอบสนองจากคนรอบข้างทั้งพ่อแม่ และผู้ดูแล หากพ่อแม่ที่ไม่รู้มาก่อนว่าลูกของตนนั้นกำลัง "ลองดี" กับตัวเองแล้วละก็ ลูกก็จะเรียนรู้ว่า "ถ้าทำอย่างนี้แล้วพ่อแม่จะยอม" ซึ่งเมื่อเด็กเรียนรู้ไปมากๆ เข้า ก็จะพัฒนากลายเป็นนิสัย และเริ่มรู้ว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ใหญ่ยอมทำในสิ่งที่เขาต้องการนั้นเอง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นแล้วพ่อแม่คงต้องเหนื่อยอีกเยอะเลยค่ะ วันนี้เรามีวิธีเตรียมรับมือไม่ให้ลูกเอาแต่ใจตัวเองและรับฟังเหตุผลพ่อแม่


คุณพ่อคุณแม่เคยเจอลูกมีอาการเหล่านี้บ้างหรือเปล่า


1.เวลาที่ลูกต้องการจะให้พ่อแม่ทำอะไรให้ เช่น กินขนม ซื้อของเล่น พาไปเที่ยว เมื่อไม่ได้ดั่งใจ ลูกก็จะร้องไห้งอแง หนักๆ เข้ามีอาการดิ้นลงไปกับพื้น ชักดิ้นชักงอ สุดท้ายพ่อแม่ก็ต้องยอมทำตามที่ลูกต้องการ

2.เวลาที่ไปขัดใจลูก เช่น ให้หยุดเล่นเพื่อไปทำกิจกรรมอื่น ลูกก็จะร้องไห้งอแง
3.เวลาที่พ่อแม่สอนหรือบอกลูกให้ทำอะไร ลูกมักจะต่อต้านหรือไม่ยอมทำตาม


สาเหตุที่ลูกมีอาการเหล่านั้นเพราะ


1.นับตั้งแต่ลูกเกิดออกมา ลูกของเราก็จะมีการเรียนรู้ เช่น เมื่อตัวเองรู้สึกหิว เมื่อร้องไห้แล้วมีน้ำนมให้กิน เด็กก็จะเรียนรู้ว่า อ้อ.. ถ้าหิวให้ร้องไห้นะ เดี๋ยวจะมีน้ำนมมาให้กินอิ่มอร่อย

2.เมื่อลูกเรียนรู้ว่าทำแบบไหนแล้วได้ผล แต่เมื่อทำซ้ำแล้วยังไม่ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ ลูกก็จะเพิ่มความรุนแรงของการกระทำขึ้นไปอีก เช่น ครั้งแรกพ่อแม่พาไปเที่ยวแล้วซื้อของเล่นหรือขนมให้ลูกกิน เมื่อพาลูกออกไปอีก ลูกก็จะให้เราซื้อขนมหรือของเล่นเพิ่มให้ เมื่อไม่ได้ลูกก็จะร้องไห้ หากการร้องไห้ครั้งนี้ทำให้พ่อแม่ใจอ่อนจนทำตามสิ่งที่ลูกต้องการ ลูกก็จะเรียนรู้และเข้าใจไปเองว่า "ทำแบบนี้แล้วพ่อแม่จะยอม

"เมื่อวันต่อๆ ไปอยากจะได้อะไร ลูกก็จะนำกลับไปใช้มุขเดิม คือ ร้องไห้งอแง ถ้าไม่ได้ ลูกก็จะร้องไห้หนักขึ้น ดังขึ้น มีอาการลงไปนั่งชักดิ้นชักงอ หากพ่อแม่ยอมตามใจลูก ลูกก็จะจดจำไปอีกว่า "ถ้าทำแบบขั้นที่ 1 ไม่ได้ ก็ทำแบบขั้นที่ 2 นี้ แล้วพ่อแม่จะยอมฉัน"


ยิ่งพ่อแม่เห็นลูกร้องไห้งอแงแล้วก็ตามใจ หรือพูดโอ๋ลูก ลูกก็จะยิ่งจดจำว่า ทำสิ่งนี้แล้วจะมีคนรัก คนเอาใจ ซึ่งเด็กทุกๆ คนจะเรียนรู้เองตามธรรมชาติ ทำให้ยิ่งโตขึ้น ลูกจะยิ่งเอาแต่ใจมากขึ้น และหากขัดใจ ก็จะร้องไห้หรือมีพฤติกรรมที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น



ทางแก้ไม่ให้ลูกเอาแต่ใจตัวเอง

1.ต้องทำความเข้าใจกับธรรมชาติของลูกให้มากว่าลูกในวัยนี้ (ช่วง 6 ขวบแรก) นั้น หากพ่อแม่สอนและฝึกไม่ตามใจลูกทุกครั้งที่ร้องไห้งอแง ลูกจะโตขึ้นมาโดยไม่ติดนิสัยเหล่านี้

2.ให้ลูกหัดเรียนรู้การช่วยเหลือตัวเอง เช่น พ่อแม่อาจจะเริ่มฝึกลูก (เริ่มตอน 2 ขวบ) ให้เริ่มใส่เสื้อผ้าเอง, กินข้าวเอง, ดื่มน้ำจากแก้วเอง ฯลฯ และควรพาลูกไปเล่นกับเพื่อนๆ ในวัยเดียวกัน เมื่อลูกไปเจอกับเพื่อนในวัยเดียวกัน ลูกจะเรียนรู้การแบ่งปัน การได้รับและการให้
3.เวลาที่ลูกร้องไห้เมื่อไม่ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ (ประเภทลงไปนั่งดิ้นชักกระตุกๆ ที่พื้น) สิ่งแรกที่พ่อแม่ต้องทำคือ การเข้าไปอุ้มลูก กอดลูกไว้ โดยไม่ต้องไปโวยวาย ไปดุด่าว่าลูก แค่กอดลูกไว้เฉยๆ แล้วพาลูกออกมาจากสิ่งที่เขาต้องการ เช่น ร้านขนม ร้านของเล่น 

"การกอดลูกเอาไว้เฉยๆ โดยที่พ่อแม่ไม่ดุ ไม่ด่า ไม่ว่าอะไรลูก เมื่อลูกร้องไห้จนเหนื่อยและไม่เห็นสิ่งเร้า (สิ่งที่ตัวเองอยากได้ เช่น ขนม ของเล่น ฯลฯ) สักพักลูกก็จะลืมไปเอง ซึ่งเมื่อลูกอารมณ์เริ่มดีขึ้น พ่อแม่ควรสอนลูกว่าเหตุใดพ่อแม่จึงไม่ซื้อหรือทำสิ่งนั้นให้ลูก แต่ไม่ควรไปดุด่าลูกอีก แค่บอกเหตุผลว่าทำไมถึงไม่ทำหรือซื้อสิ่งนั้นให้ก็พอค่ะ"


โปรดจำไว้ว่า แม้ว่าลูกจะยังเล็ก จะไม่เข้าใจเหตุผลที่พ่อแม่อธิบายไปทั้งหมด แต่ถ้าพ่อแม่ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ลูกจะซึมซับถึงการใช้เหตุผล ไม่ใช่การใช้อารมณ์ของพ่อแม่โต้ตอบ พ่อแม่หลายคนมักจะด่าว่าลูกว่า "ร้องทำไม หยุดร้องเดี๋ยวนี้" ซึ่งทำให้ลูกรู้สึกว่าเขาไม่ได้รับความรัก พ่อแม่ไม่รักเขา ลูกจึงต้องเรียกร้อง (ด้วยการร้องไห้งอแง และดิ้นๆ เพิ่มขึ้นนั้นเอง)


4.หัดตั้งคำถามกับลูกบ่อยๆ ถามลูกว่าลูกรู้สึกยังไงบ้าง และลูกคิดยังไงกับสิ่งที่ตัวเองอยากได้ ทำไมถึงอยากได้สิ่งๆ นั้น และทำไมจะต้องเอาสิ่งๆ นั้นให้ได้

5.เปิดโอกาสให้ลูกได้หัดตัดสินใจเองบ้าง อาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับตัวของลูกเอง เช่น จะเลือกเสื้อผ้าตัวไหนดี (ลูกจะได้อารมณ์ดี เพราะบางครั้งลูกอาจจะไม่อยากใส่ชุดที่พ่อแม่เลือกให้ก็ได้), มื้อเย็นนี้จะกินอาหารอะไรดี (มีเมนูอาหารให้เลือกหลากหลาย แล้วลูกเป็นคนตัดสินใจ) ฯลฯ เป็นต้น
6.พูดคุยกับลูกให้บ่อย เด็กในช่วงปฐมวัยนั้น พ่อแม่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวและเป็น "ของเล่น" ที่ดีที่สุดสำหรับเขา หากพ่อแม่พูดคุยกับลูกสม่ำเสมอ เล่นกับลูก ให้ความรัก กอดลูกให้มาก ลูกจะไม่ใช้ความก้าวร้าว
เป็นตัวต่อรองกับพ่อแม่

“10 แวว” ความสามารถพิเศษสู่เด็กอัจฉริยะ

 เด็กทุกคนมีศักยภาพในการเรียนรู้อย่างมากมายมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัย 6 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงที่ศักยภาพทางกายและสติปัญญากำลังเต็มไปด้วยพลังแห่งการเรียนรู้ เด็กแต่ละคนยังมีศักยภาพด้านต่าง ๆ ในตัวเองไม่เท่ากันและเด็กบางคนอาจมีลักษณะของความสามารถบางด้านสูงกว่าคนอื่น ๆ และเด็กจำนวนไม่น้อยที่มีความสามารถพิเศษบางประการที่โดดเด่นกว่าเด็กคนอื่น ๆ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า คุณลักษณะพิเศษดังกล่าวอาจซ่อนอยู่ไม่แสดงออกมาให้ผู้อื่นเห็นได้ และถ้าไม่มีใครเห็นความสามารถนั้น โอกาสที่เด็กจะได้รับการพัฒนาให้เต็มตามศักยภาพที่มีอยู่จะหายไปอย่าง น่าเสียดาย

           เด็กที่มีความสามารถพิเศษ หมายถึง “เด็กที่แสดงออกซึ่งความสามารถอันโดดเด่นด้านใด ด้านหนึ่ง หรือหลายด้าน ในด้านสติปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ การใช้ภาษา การเป็นผู้นำ การสร้างงานทางด้านทัศนศิลป์และศิลปะการแสดง ความสามารถทางดนตรี ความสามารถทางกีฬา และความสามารถทางวิชาการในสาขาใดสาขาหนึ่ง หรือ หลายสาขาอย่างเป็นที่ประจักษ์เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่มีอายุระดับเดียวกัน สภาพแวดล้อมเดียวกัน”


         พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 วรรคสี่ ระบุว่าการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลซึ่งมีความสามารถพิเศษ ต้องจัดด้วยรูปแบบที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความสามารถของบุคคลนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงมีการกำหนดแนวการดำเนินงานในการค้นหาและพัฒนาเด็กที่มีความสามารถพิเศษให้ชัดเจนขึ้น โดยจัดทำแผนแม่บทเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นกรอบในการกำหนด ทิศทางการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องครบวงจร จำนวน 10 แผน ทำให้เกิดองค์กรที่มีหน้าที่ รับผิดชอบการดำเนินงานพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษ ได้แก่ ศูนย์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถ สังกัดสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษ ที่สถาบันอุดมศึกษาจัดตั้งขึ้น โดยเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นแม่ข่ายเผยแพร่ความรู้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประสานงานกับองค์ย่อยในระดับท้องถิ่น มีภารกิจหลักในการสืบเสาะหาเด็กที่มีความสามารถพิเศษ การให้ความรู้เผยแพร่ข้อมูลด้วยสื่อต่าง ๆ และการให้สถาบันอุดมศึกษาทำหน้าที่สร้างงานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ให้เกิดการพัฒนาอย่าง กว้างขวาง สามารถจัดการศึกษาที่ช่วยพัฒนาผู้ที่มีความสามารถพิเศษได้อย่างเต็มตามศักยภาพ และนำไปสู่การสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าให้แก่สังคมและประเทศชาติได้อย่างก้าวกระโดดต่อไป

           จากการศึกษาพบว่า เด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษของประเทศไทย โดยเฉลี่ยแล้ว มีอยู่ไม่น้อยกว่าสถิติในประเทศอื่น ๆ คือประมาณร้อยละ 3 ในแต่ละสาขา กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งโรงเรียนสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษเฉพาะทางไม่อาจรองรับเด็กเหล่านี้ได้ และโดยหลักการที่ ถูกต้องของการจัดการศึกษาให้แก่ผู้ที่มีความต้องการพิเศษ (Special Education Needs) ซึ่งรวมทั้ง กลุ่มเด็กที่มีความสามารถพิเศษนั้นในระดับสากลเป็นที่ยอมรับว่า การเรียนร่วมอยู่ในโรงเรียนปกติเป็นวิธีการที่ถูกต้องทั้งในมติทางด้านสังคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ

           ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการด้านการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษของไทย ได้พยายามพัฒนารูปแบบของการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ (Gifted Education) ให้ ถูกต้องเหมาะสม เป็นไปตามปรัชญาและหลักการมากยิ่งขึ้น ในลักษะของการเรียนร่วมอยู่ในโรงเรียนปกติ โดยมีห้องเรียนพิเศษที่อาจเรียกได้ว่าเป็น Schools in School โดยเริ่มตั้งแต่การวางโครงสร้าง พื้นฐานการทางศึกษา เพื่อให้มีการค้นหาและพัฒนาความสามารถพิเศษตั้งแต่เยาว์วัย และเชื่อมโยง ต่อเนื่องไปจนถึงระดับการศึกษาที่สูงขึ้น โดยให้มีการคัดแยกด้วยวิธีการที่หลากหลายเหมาะสมกับเด็กแต่ละกลุ่ม การปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอน การปรับหลักสูตร การพัฒนาสื่อ การวัดผลประเมินผล การจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและอื่น ๆ ที่จะช่วยให้ผู้เรียนที่มีความสามารถพิเศษได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพสูงสุดของผู้เรียนแต่ละคนที่มีอยู่ อันเป็นหลักการสำคัญของแนวทางการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการนำร่อง ทั้งใน โรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาไปบ้างแล้ว และเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ที่ควรให้การขยายผลออกไปให้กว้างขวางมากขึ้น ซึ่งการดำเนินงานประกอบไปด้วยการค้นหา แววความสามารถพิเศษและการจัดการอบรมเลี้ยงดู และให้การศึกษาอย่างถูกต้องในระดับ ก่อนประถมศึกษา และประถมศึกษา และการจัดการศึกษาสำหรับผู้ที่มีความสามารถพิเศษในระดับ การศึกษาขั้นพื้นฐาน ในลักษณะการมีห้องเรียนพิเศษในโรงเรียนทั่วไป


         การค้นหาว่าเด็กมี “แวว” อะไร จะต้องมีการทดสอบ รวบรวมข้อมูลเพื่อประมวลผลแววความสามารถพิเศษ ซึ่งมีทั้งหมด 10 แววด้วยกัน สามารถจำแนกคุณลักษณะเฉพาะของแต่ละแวว ได้ดังนี้


      1. แววผู้นำ เป็นเด็กชอบขบคิด ไม่ยอมจำนนต่อปัญหาอุปสรรคใด ๆ ชอบเป็นผู้นำกลุ่ม มีอารมณ์ขัน ชอบทำงานกับคนกลุ่มมาก ทำงานร่วมกับคนอื่นได้ดี มีมนุษยสัมพันธ์ และควบคุมการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย 

     2. แววนักคิด เป็นเด็กช่างสังเกต มองเห็นรายละเอียดได้มากกว่าเด็กวัยเดียวกัน จดจำแม่นยำ รวดเร็ว สนใจสิ่งแปลก ๆ ที่ทำให้ผู้ใหญ่ประหลาดใจ ใช้ภาษาได้ดี ไม่ชอบคบเพื่อนวัยเดียวกัน แต่คบคนที่อายุมากกว่า รู้เกินเด็กวัยเดียวกัน ชอบทำงานคนเดียว คิดสิ่งที่เป็นนามธรรมได้อย่างลึกซึ้งกว่าเด็กวัยเดียวกัน เช่น ความซื่อสัตย์ 
      3. แววสร้างสรรค์ เป็นเด็กไม่ยอมทำกิจกรรมที่ไม่ชอบ ไม่ยอมร่วมมือถ้าไม่เห็นด้วย ชอบทำงานคนเดียว สนใจสิ่งประดิษฐ์และความคิดใหม่ๆ ไม่หงุดหงิดกับการไร้ระเบียบ หรือสภาพ ที่คนอื่นหงุดหงิดทนไม่ได้ สังเกตรายละเอียดต่าง ๆ ได้ดี มีความคิดอิสระ มีความยืดหยุ่น คิดได้ หลายอย่างและมีความคิดแปลกใหม่ 
      4. แววนักวิชาการ เป็นเด็กมีสมาธิดี เรียนรู้ได้รวดเร็ว ภาษาดี อ่านหนังสือยากและเร็วกว่าเด็กวัยเดียวกัน ชอบการเรียนรู้แบบถึงแก่น ชอบซักถาม ชอบเรียนวิชายากๆ สนุกกับการเรียน ชอบทำงานเกินคำสั่งในสิ่งที่สนใจ ชอบวิเคราะห์ตนเอง ประเมินข้อมูล และแก้ไขสถานการณ์ 
       5. แววนักคณิตศาสตร์ เป็นเด็กสนใจศึกษาเกี่ยวกับตัวเลข ปฏิทินเวลา แผนภูมิ มิติเวลา หมกมุ่นครุ่นคิดมีวิธีแปลกใหม่ในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ มีจินตนาการ ชอบตั้งคำถามที่เป็นเหตุเป็นผล มีความสามารถในการแก้ปัญหาได้หลายวิธีทางคณิตศาสตร์ และเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ เข้ามา เกี่ยวข้องกับเรื่องคณิตศาสตร์ได้ 
     6. แววนักวิทยาศาสตร์ เป็นเด็กกระหายใคร่รู้ในสิ่งต่าง ๆ ว่าทำได้อย่างไร ชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์ ชอบเฝ้าดู จับต้อง ดม มองเห็นความเชื่อมโยงของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ชอบทำงานที่ต้องลงมือปฏิบัติ ทดลอง ชอบวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์เรื่องต่าง ๆ อย่างมีเหตุผล 
      7. แววนักภาษา เป็นเด็กพูดอ่านเขียนเร็ว มีภาษาก้าวหน้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน ชอบท่องจำ อ่านโคลงกลอน พกหนังสือติดตัวไปทุกที่ ชอบแต่งเรื่องเขียนเรื่อง มีภาษาพูด เขียน สละสลวยงดงามกว่าเด็กวัยเดียวกัน เข้าใจเรื่องที่อ่านอย่างถ่องแท้ วิจารณ์เชิงสร้างสรรค์จากเรื่องที่อ่านได้ ใช้ภาษาสร้างจินตนาการได้ 
   8. แววนักกีฬา เป็นเด็กสนุกสนานกับการเคลื่อนไหว ออกกำลัง ปีนป่าย ใช้เวลาว่างเล่นกีฬา มีสมาธิในการเล่นกีฬาได้แม้มีเสียงรบกวน ชอบคิดวิธีใหม่ๆ มาใช้เล่นกีฬา สามารถควบคุมความสมดุลของร่างกายได้อย่างโดดเด่น และมีสภาพร่างกายที่เหมาะสม เช่น ช่วงขาแข็งแรง 
    9. แววนักดนตรี เป็นเด็กใช้เวลาว่างกับกิจกรรมด้านดนตรี อยากมีอาชีพเกี่ยวกับดนตรี เช่น เป็นนักดนตรี นักแต่งเพลง มีความไวต่อเสียง แยกแยะความแตกต่างของเสียงได้ ชอบการวิเคราะห์เพลงว่าดี-ไม่ดี 
    10. แววนักศิลปิน เป็นเด็กสนใจศิลปะ ใช้เวลาว่างวาดภาพ ขีดเขียน มีสมาธินานกับศิลปะ มีความสุขกับงานศิลปะ อยากมีอาชีพทางศิลปะ มีประสาทสัมผัส มือ ตา ดี มีทักษะสามารถใช้กริยา ท่าทางสื่ออารมณ์ได้ดี 
เด็กที่ผ่านกระบวนการทดสอบ หากมีความโดดเด่นในแววต่าง ๆ 8 ใน 10 แวว จะถือได้ว่าเป็น “เด็กอัจฉริยะ” !

          นอกจากการทดสอบวัดแววความสามารถพิเศษแล้ว จะต้องมีการรวบรวมประวัติของเด็กตั้งแต่กำเนิด ทั้งการพัฒนาทางร่างกาย จิตใจ รวมทั้งประวัติพ่อแม่มาประมวลประกอบผลการทดสอบด้วย “แววอัจฉริยภาพ” ไม่ได้ชี้วัดกันที่ไอคิว ยกเว้นแววนักคิด แววนักวิทยาศาสตร์ และแววนักคณิตศาสตร์ ที่ต้องวัดไอคิว แต่หากไม่พบแววอัจฉริยภาพเลยก็ไม่ต้องตกใจหรือเสียใจ เพราะข้อมูลที่ได้จาก การทดสอบจะเป็นประโยชน์ที่จะบอกถึงความถนัด ความชอบของเด็ก หรือปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของเด็กได้ จากนั้นเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะรับช่วงต่อในการหาทางส่งเสริมพัฒนาเด็กต่อไป เพื่อให้เด็กเติบโตและพัฒนาตนเองอย่างมีความสุข

7 วิธีเรียนเก่ง – คนหัวไม่ดีก็เรียนเก่งได้!!

เคยสงสัยไหมว่าทำไมบางคน หัวไม่ดี แต่เรียนเก่ง? ตัวเราเองก็พอฟัดพอเหวี่ยงกะเพื่อนคนนี้ แต่เขามักจะได้คะแนนสอบ หรือเกรดดีกว่าเราเสมอๆ  มันมีความลับอะไรซ่อนอยู่ในกอไผ่? วันนี้นายติวฟรีจะมาแฉให้หมดเปลือกเลยว่า ความลับนั้นคืออะไร ด้วยเทคนิคสั้นๆ 7 ข้อนี้ เกิดมาหัวไม่ดีก็สามารถเรียนเก่งได้ หากเราปฎิบัติตามเคล็ดลับสั้นๆ 7 วิธีนี้ เรียนเก่งได้ไม่ยาก เกรดดีๆอยู่แค่เอื้อมแล้ว 



1. นอนให้เพียงพอ     เป็นการเริ่มต้นข้อแรกสำหรับวิธีเรียนเก่งที่เรานำมาแนะนำกันวันนี้ เราต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ประมาณ 6-8 ชั่วโมง/วัน ดังนั้นเราจึงต้องรู้ว่าหากเราต้องตื่นตอนเช้าต้องเข้าโมงไม่เกินกี่โมง แต่ทั่วๆ ไปโดยเฉลี่ยแล้วจะไม่เกิน 5 ทุ่ม เพราะหากเราพักผ่อนไม่เพียงพอ จะทำให้สมองไม่โลดแล่นและหากเราเข้านอนและตื่นตรงเวลาทุกวันจะทำให้เกิดความเคยชินและไม่อ่อนเพลีย สมองสามารถทำงานได้เต็มที่ ส่วนอีกอย่างก็สำคัญมาก ๆ ก็คือ ต้องทานอาหารเช้าทุกวัน เพื่อร่างกายจะได้มีพลังงานในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างวัน

2. การปฏิบัติตัวเมื่ออยู่ในห้องเรียน      แนะนำว่าใหเลือกที่นั่งด้านหน้าและใกล้คุณครูให้มากที่สุดเป็นดีเพราะหากเรานั่งด้านหลังอาจจะโดนเพื่อน ๆชวนคุย รบกวนสมาธิได้ หรือ หาก นั่งข้างหน้าต่าง หรือ ข้างประตู อาจทำให้เราสนใจสิ่งต่าง ๆด้านนอกมากกว่าบทเรียนในห้องเรียน และหากมีข้อสงสัย “อย่าอาย” ที่จะถามอาจารย์ เพื่อที่จะได้คำตอบในสิ่งที่เราไม่รู้ได้อย่างถูกต้อง

3. ตาดู หูฟัง มือเขียน      กล่าวคืออันดับแรกเราต้องมีสมาธิในการฟังเสียก่อน หลังจากนั้นก็ทำความเข้าใจในสิ่งที่อาจารย์พูด เสร็จแล้วก็จดสิ่งที่เราเข้าใจลงไปในสมุด กันลืม แต่ไม่ควรฟังไปเขียนไป เพราะเราจะไม่มีเวลาทำความเข้าใจ และไม่รู้ว่าไอ้สิ่งที่เราจดมานั้นหมายความว่าอย่างไรวิธีเรียนเก่งวิธีนี้ ได้ผลแน่นอน รับรอง

4. การเตรียมตัวสำหรับชั่วโมงต่อไป      เป็นวิธีเรียนเก่งที่ได้มาจากเจ้าของเกียตนิยมอันดับหนึ่งมหาวิทยาลัยชื่อดังของประเทศ อันดับแรก ในจดโน้ตหัวข้อที่เรายังไม่เข้าใจในคาบนี้เก็บไว้ถามอาจารย์ในคาบหน้า เสร็จแล้วเขียนเป็นหัวข้อใหญ่ ๆ ว่าวันนี้เรียนอะไรไปบ้างเผื่อที่จะสามารถกลับไปทบทวนบทเรียนที่เรียนมาในวันนี้ที่บ้านได้ และต้องตัดความไม่สบายใจ หรือ เรื่องที่ค้างคาใจในชั่วโมงก่อนหน้านี้ให้หมด

5.จุดประสงค์ของหลักสูตร      ก่อนอื่นเราต้องทราบก่อนว่าหลักสูตรในชั่วเรียนนั้น ๆ มีจุดประสงค์เพื่ออะไรเราจะได้รู้ว่าเราควรเรียนอะไร เพื่อนบรรลุจุดประสงค์ของหลักสูตรนั้น ๆ

6. จับประเด็น      ควรสังเกตว่าอาจารย์เน้น หรือย้ำคำไหนเป็นพิเศษ ตรงไหนที่อาจารย์ย้ำมากกว่าหนึ่งรอบ และหัวข้อไหนที่อาจารย์บอกว่าจะออกสอบให้บันทึกไว้เพื่อจะได้กลับเป็นทบทวนเป็นพิเศษและอย่าลืมสังเกตแบบฝึกหัดที่อาจารย์ให้มาทำที่บ้าน เพราะนั่นก็คือแนวข้อสอบเช่นกัน

7. อย่ามีอคติกับผู้สอน      เพราะจะทำให้ เราไม่อยากเรียนวิชานั้น ๆ จะรู้สึกว่าการเรียนในชั่วโมงนั้นน่าเบื่อหน่าย ซึ่งจะทำให้มีผลต่อคะแน และความเข้าใจของเราเอง เราควรปรับใจเพื่อทำให้การเรียนของเราออกมาสมบูรณ์ที่สุด


วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2556

คำถามที่ ไอสไตน์ เคยถามนักเรียนในห้อง




ในห้องเรียนวันหนึ่ง ไอสไตน์ถามนักเรียนว่า " มีคนซ่อมปล่องไฟสองคน กําลังซ่อมปล่องไฟเก่า พอพวกเขาออกมาจากปล่องไฟ ปรากฏว่า คนหนึ่งตัวสะอาด อีกคนตัวเลอะเทอะ เต็มไปด้วยเขม่า ขอถามหน่อยว่า คนไหนจะไปอาบน้ำก่อน "
นักเรียนคนหนึ่งตอบว่า
" ก็ต้องคนที่ตัวสกปรกเลอะเขม่าควันสิครับ "
ไอสไตน์ พูดว่า
" งั้นเหรอ คุณลองคิดดูให้ดีนะ คนที่ตัวสะอาด เห็นอีกคนที่ตัวสกปรกเต็มไปด้วยเขม่าควัน เขาก็ต้องคิดว่าตัวเองออกมาจากปล่องไปเก่าเหมือนกัน ตัวเขาเองก็ต้องสกปรกเหมือนกันแน่ๆเลย ส่วนอีกคน เห็นฝ่ายตรงข้ามตัวสะอาด ก็ต้องคิดว่า ตัวเองก็สะอาดเหมือนกัน ตอนนี้ ผมขอถามพวกคุณอีกครั้งว่า ใครที่จะไปอาบน้ำก่อนกันแน่ "
นักเรียนคนหนึ่งพูดขึ้นมาด้วยความตื่นเต้นว่า
" อ้อ ! ผมรู้แล้ว พอคนตัวสะอาดเห็นอีกคนสกปรก ก็นึกว่าตัวเองต้องสกปรกแน่ แต่คนที่ตัวสกปรก เห็นอีกคนสะอาด ก็นึกว่าตัวเองไม่สกปรกเลย ดังนั้นคนที่ตัวสะอาดต้องวิ่งไปอาบน้ำก่อนแน่เลย
..... ถูกไหมครับ...."
ไอสไตน์มองไปที่นักเรียนทุกคน นักเรียนทุกคน ต่างเห็นด้วยกับคําตอบนี้ ไอสไตน์ ค่อยๆพูดขึ้นอย่างมีหลักการและเหตุผล
" คําตอบนี้ก็ผิด ทั้งสองคนออกมาจากปล่องไฟเก่าเหมือนกัน จะเป็นไปได้ไงที่คนหนึ่งสะอาด อีกคนหนึ่งจะสกปรก นี่แหละที่เขาเรียกว่า " ตรรก "
เมื่อความคิดของคนเราถูกชักนําจนสะดุด ก็จะไม่สามารถแยกแยะและหาเหตุผล แห่งเรื่องราวที่แท้จริงออกมาได้ นั่นคือ " ตรรก "
จะหาตรรกได้ก็ต้อง กระโดดออกมาจาก
" พันธนาการของความเคยชิน " หลบเลี่ยงจาก
" กับดักทางความคิด " หลีกหนีจาก
" สิ่งที่ทําให้หลงทางจากความรู้จริง " ขจัด
" ทิฐิแห่งกลมสันดาน "
จะหา ตรรก ได้ก็ต่อเมื่อ คุณสลัดหมากทั้งหมด ที่คนเขาจัดฉาก วางล่อคุณไว้

วันพุธที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2556

อันตราย จาก อาการจิต สคิซโซฟรีเนีย (Schizophrenia)

การได้ยินเสียงเองหรือการเข้าใจเอาว่ามีผู้ใช้อุปกรณ์เพื่อแทรกซึมเข้าสู่ตัวทำนองนี้เป็นอาการที่ส่อชัดเจนถึงอาการ สคิซโซฟรีเนียประเภทหวาดระแวง ซึ่งถือเป็นโรคทางสมองอย่างหนึ่ง

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายคนออกมาแสดงความคิดเห็นหลังเกิดกรณีสังหารหมู่ 13 ศพที่สถานีทหารเรือวอชิงตันเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า มีความเป็นไปได้สูงมากที่ "อารอน อเล็กซิส" ฆาตกรผู้ลงมือจะเป็นผู้ป่วยทางจิตประเภท "สคิซโซฟรีเนีย" หรือโรคจิตเภท

ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบข้อมูลจากสื่อและรายงานของสำนักงานตำรวจเมืองนิวพอร์ท ซึ่ง นิวยอร์ก ไทม์ส ระบุว่า นายอเล็กซิส อดีตทหารเรือเคยขอรับความช่วยเหลือจากปัญหาทางจิตจาก สำนักงานกิจการทหารผ่านศึกมาแล้ว

ในขณะที่ รายงานของสำนักงานตำรวจนิวพอร์ท รัฐโรดไอส์แลนด์ ระบุเอาไว้ว่า เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม นายอเล็กซิส เคยโทรศัพท์ไปร้องเรียนกับตำรวจว่า "มีคน 3 คนพูดกับผมผ่านพื้นห้อง" และ "คนเหล่านี้ใช้อุปกรณ์ที่มีคลื่นไมโครเวฟบางอย่างเพื่อส่งสัญญาณสั่นสะเทือนผ่านเพดานห้อง แทรกซึมเข้าไปในร่างกายของผม จนทำให้ผมนอนไม่หลับ"

ดร. อี. ฟุลเลอร์ ทอร์เรย์ ศาสตราจารย์ด้านจิตเวชศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งวิทยาศาสตร์สุขภาพของสหรัฐอเมริกา ชี้ว่า การได้ยินเสียงเองหรือการเข้าใจเอาว่ามีผู้ใช้อุปกรณ์เพื่อแทรกซึมเข้าสู่ตัวทำนองนี้เป็นอาการที่ส่อชัดเจนถึงอาการ สคิซโซฟรีเนียประเภทหวาดระแวง ซึ่งถือเป็นโรคทางสมองอย่างหนึ่ง แบบเดียวกับโรคพาร์กินสันหรืออัลไซเมอร์

ในขณะที่ ดร.ดักลาส มอสส์แมน ศาสตราจารย์ด้านจิตเวชศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซินซินนาติ บอกว่า สคิซโซฟรีเนีย มักเกิดขึ้นในช่วงปลายวัยรุ่น ต่อเนื่องกับการเริ่มต้นวัยผู้ใหญ่

ในผู้ชาย อาการดังกล่าวมักเกิดขึ้นในช่วงปลายๆ วัยรุ่น คือ 17-19 ปีจนถึงวัย 20 ปีต้นๆ ส่วนผู้หญิงจะเกิดขึ้นช้ากว่า โดยจะเป็นช่วงวัย 20 ตอนปลายขึ้นไป โดยจะค่อยเป็นค่อยไปเหมือนๆ กัน

ตามสถิติมีคนอเมริกันเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ป่วยเป็นโรคนี้ อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาวิจัยชี้ชัดเจนว่า สคิซโซฟรีเนีย ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงที่บุคคลจะแสดงออกอย่างรุนแรง หรือก่ออาชญากรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อขาดการรักษาหรือไม่ได้รับยาที่เหมาะสมตามอาการ

ที่มา : มติชนรายวัน 1 ต.ค.2556

วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ปัญหาการศึกษาไทย

ปัญหาการศึกษาไทย

จากการค้นคว้าข้อมูลในหัวเรื่อง "ปัญหาการศึกษาไทย" แล้วนำข้อมูลหลายๆแหล่งมาสังเคราะห์นั้นมีสำนักงานที่เกี่ยวข้องได้เสนอ ปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาการศึกษาไทยอยู่หลายแหล่งซึ่งสามารถจะสรุปและ อ้างอิงได้ดังนี้

ศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงศึกษาธิการ
ได้บอกถึงปัญหา การจัดการศึกษาของไทย ที่ทำให้ความพยายามที่จะปฏิรูปการศึกษาในรอบ 7-8 ปีที่ผ่านมา ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จากการวิเคราะห์และสังเคราะห์ในภาพรวมแล้ว พบว่ามีอุปสรรคปัญหาสำคัญอยู่ 5 ปัญหาใหญ่ๆ ดังนี้

1. ปัญหาครูอาจารย์ ผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษาของไทยส่วนใหญ่ ยังขาดความเข้าใจว่า การปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริงนั้น หมายถึงการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่อย่างถึงรากถึงโคน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นและแตกต่างไปจากเดิม เช่น การเปลี่ยนแปลงวิธีคิด เป็นต้น แต่การปฏิรูปการ ศึกษาของไทยในรอบ 7-8 ปีที่ผ่านกลับถูกตีความหมายว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหาร และวิธีการทำงานของครูอาจารย์ตาม กฎหมาย นโยบาย คำสั่ง และคำชี้แนะต่างๆจากบนลงล่าง การที่จะให้คนในองค์กรไม่ว่าครูอาจารย์ ผู้บริหารทุกระดับในกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิรูปการศึกษาหรือปฏิรูปตนเองเป็นไปได้ยากและมีข้อจำกัดหลายประการมีความ เคยชินกับวิถีชีวิตเดิม ไม่อยากเปลี่ยนแปลง มักคิดแบบเข้าข้างตนเองว่าตนเองทำถูกแล้วหรือทำดีอยู่แล้ว ถึงแม้จะมีคนในองค์กร บางคนที่มีความคิดก้าวหน้า วิเคราะห์องค์กรตัวเองแบบวิพากษ์วิจารณ์ได้และสนใจที่จะปฏิรูปตัวเองและ องค์กรของตัวเองอยู่บ้าง แต่ก็มักเป็นคนส่วนน้อยที่มีอำนาจและบทบาทที่จำกัด ทำให้มีการวิเคราะห์ได้จำกัดไปด้วย

2. ปัญหาการขาดภาวะผู้นำที่ตระหนักถึงรากเหง้าและความสำคัญของปัญหาการปฏิรูปการศึกษา มองปัญหาเรื่องการศึกษาอย่างเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นในสังคมแบบเป็นระบบองค์ รวม ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง (Critital Mass) ที่จะไปผลักดันการเปลี่ยนแปลงการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบได้อย่างแท้จริง

3. ปัญหาระบบคัดเลือก การบริหารและการให้ความดีความชอบครูอาจารย์ ผู้บริหารและ บุคลากรทางการศึกษา อยู่ภายใต้ระบบราชการแบบรวมศูนย์กลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการปฏิรูปทางการ ศึกษา ผู้บริหารส่วนใหญ่ทำงานตามหน้าที่ให้ พอผ่านกฎระเบียบไปวันๆก็ได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นทุกปีตามระบบราชการ ไม่มีการแข่งขัน การตรวจสอบและประเมิน เพื่อ เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานอย่างจริงจัง แม้จะมีการประเมินเพื่อเลื่อนขั้นเงินเดือน เลื่อน ตำแหน่งบ้าง แต่ก็เป็นการประเมินภายใต้กรอบข้าราชการแบบหล้าหลัง เช่น การสอบ การประเมินจากงานเขียน การรายงานเอกสาร ไม่ได้มีการประเมินจากผลลัพธ์ทางการเรียนของผู้เรียนอย่างแท้จริง อีกทั้งระบบราชการแบบรวมศูนย์เป็นระบบบริหารแบบอุปถัมภ์ มีการปกป้องผลประโยชน์ ส่วนตัว แบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่ค่อยดูแล วิจารณ์ หรือลงโทษเพื่อนร่วมงานในกระทรวงอย่างจริงจัง ส่วนการได้ดีระบบดังกล่าวมักใช้วิธีการประจบ แสดงความจงรักภักดี เป็นพรรคพวก มีการวิ่งเต้นแลกด้วยผลประโยชน์ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ กลายเป็นระบบการบริหารที่ขาดประสิทธิภาพและขาดความเป็นธรรม ทำให้ครูอาจารย์ที่เก่งที่ดีบางส่วนลาออกไปทำงานอื่นที่ท้าทายหรือให้ความพอ ใจมากกว่า บางส่วนอาจทนอยู่แบบไฟค่อยๆมอดลงตามลำดับ

4. ปัญหา ด้านประสิทธิภาพการใช้งบประมาณการศึกษาในแง่คุณภาพของผู้จบการศึกษา ทุกระดับต่ำกว่าหลายประเทศ ทั้งๆที่การจัดสรรงบประมาณการศึกษาของรัฐบาล คิดเป็นสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรืองบประมาณประจำปีทั้งหมดอยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ปัญหาเกิดจากการใช้งบประมาณไม่เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในหลายด้าน เช่น นิยมใช้งบประมาณไปก่อสร้างอาคารสถานที่ และการซ่อมแซมมากกว่าการใช้วัสดุอุปกรณ์ สื่อการศึกษา หนังสือ ห้องทดลอง ห้องปฏิบัติการ ฯลฯ

5. ปัญหา ระบบการประเมินผลและการสอบแข่งขันเพื่อรับการคัดเลือกเรียนต่อใน มหาวิทยาลัย รวมทั้งการศึกษาระดับอื่นๆด้วย ยังเป็นการสอบแบบปรนัย เพื่อวัดความสามารถในการจดจำข้อมูล ทำให้ขัดแย้งกับแนวคิดปฏิรูปการเรียนรู้แบบใหม่ที่เสนอว่า ควรให้ผู้เรียนได้หัด คิดวิเคราะห์เป็น ระบบการประเมินผลแบบนี้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาการเรียนรู้แบบใหม่ที่ต้องการ ให้ผู้เรียนเก่ง ดี มีความสุข คิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์เป็น เพราะผู้ปกครอง ครูอาจารย์ นักเรียนต่างก็ห่วงแต่เรื่องทำเกรดเพื่อการสอบแข่งขันในระบบแพ้คัดออก คัดเลือกคนส่วนน้อยไปเรียนระดับสูง ขณะเดียวกันยังมีปัญหาสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพแตกต่างกันมาก โดยเฉพาะ มหาวิทยาลัยของรัฐที่ตั้งมานานและได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐมาก ทำให้มีชื่อเสียงและผู้เรียนก็เสียค่า เล่าเรียนที่ต่ำกว่ามหาวิทยาลัยเอกชน ทำให้นักเรียนต้องแข่งขันแย่งกันเข้าไปเรียน เพื่อที่จะได้รับ ปริญญาไปแข่งขันหางานทำ หาเงินให้มากภายใต้ระบบและนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ เน้นการเพิ่มผลผลิตและการแสวงหากำไรสูงสุด

การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมโลก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและกระแสโลกาภิวัตน์ทำให้ประเทศต่างๆ ต้องเผชิญกับสภาวะการแข่งขันสูงและต้องเร่งพัฒนาคนของตนให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพเพื่อให้สามารถรับมือกับสิ่งท้าทายดังกล่าวได้ ดังจะเห็นได้จากการที่ที่ประชุมรัฐมนตรีศึกษาของอาเซียนเมื่อเดือนสิงหาคม 2548 ได้ออกถ้อยแถลงร่วม (Joint Statement) ถึงความจำเป็นของอาเซียนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านกระบวนการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของภูมิภาค และสร้างอาเซียนให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง เพื่อให้ทุกคนได้รับประโยชน์จากโลกาภิวัตน์อย่างเท่าเทียม (ASEAN. 2005. online)

ด้วยเหตุนี้นานาประเทศรวมทั้งประเทศไทยจึงต้องเร่งปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพ การเรียนการสอนซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญในการหล่อหลอมเยาชนให้เติบโตขึ้นเป็นแรงงานที่มีศักยภาพ ทั้งนี้ปัจจัยหลักประการหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาคือการพัฒนาคุณภาพครูซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนให้การปฏิรูปข้างต้นประสบความสำเร็จ ( Reimers, 2003:12) โดย ดร.รุ่ง แก้วแดง มีความเห็นสอดคล้องกันว่าถ้าครูมีความรู้ ความสามารถ เสียสละ และตั้งใจสอนสั่งผู้เรียนอย่างเต็มความสามารถ จะช่วยเสริมสร้างให้เด็กไทยเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองดี เก่ง ฉลาด มีศักยภาพ มีความสุขและสามารถแข่งขันกับทุกประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ (รุ่ง แก้วแดง. 2544: 134)

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับนานาประเทศแล้วจะพบว่าการจัดการศึกษาของไทยใช้งบประมาณสูงกว่ามากแต่ผลสัมฤทธิ์ที่ได้รับกลับด้อยกว่าทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ดังจะเห็นได้จากผลการประเมินความสามารถในการแข่งขันนานาชาติของ IMD (International Institute for Management Development) ได้จัดให้การศึกษาของไทยมีคุณภาพอยู่ในลำดับที่ 46 จาก 60 ประเทศ (โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย. 2550:7) รวมถึงการจัดดัชนีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ประจำปี 2549 ที่ไทยได้รับการจัดให้อยู่ลำดับที่ 74 จากทั้งหมด 109 ประเทศ (สำนักงานดูแลนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกา. 2550: ออนไลน์) ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่าปัญหาการจัดการเรียนการสอนดังกล่าวส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากคุณภาพและประสิทธิภาพในการดำเนินงานของครู (สมชาย บุญศิริเภสัช. 2545:2) ซึ่งหากพิจารณาในภาพรวมจะพบว่าปัจจุบันครูมีปัญหาหลักในสามด้านคือเรื่องคุณภาพการจัดการเรียนการสอน การมีหนี้สินล้นพ้นตัว รวมถึงภาวะการขาดแคลนครูสะสมโดยเฉพาะในสาขาที่สำคัญ (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. 2545::53) โดยมีสรุปรายละเอียดของประเด็นปัญหา และแนวทางการแก้ไขของภาครัฐที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ดังนี้
1) ปัญหาด้านคุณภาพของครู ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการประสบความสำเร็จอย่างสูงในการนำคนเก่ง คนดี มีความรู้เข้าสู่วิชาชีพครู โดยคัดเลือกจากนักเรียนที่เก่งที่สุดของแต่ละจังหวัดให้เข้ารับทุนเพื่อเรียนต่อด้านการฝึกหัดครู ดังนั้นครูในยุคนั้นจึงเป็นคนเก่งของประเทศ และมักประสบความสำเร็จทั้งในด้านการพัฒนานักเรียนและชีวิตส่วนตัว ต่อมาเมื่อประเทศไทยมีความต้องการครูสูงขึ้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเร่งผลิตครูมากขึ้นเป็นเงาตามตัวโดยปราศจากการวางแผนที่เหมาะสม ถึงกับสถาบันฝึกหัดครูทุกแห่งต่างเปิดสอนในภาคพิเศษและภาคสมทบอย่างแพร่หลาย ด้วยเหตุนี้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาสาขาครูจึงมีจำนวนมากเกินความต้องการของตลาดแรงงานส่งผลให้ตกงานในที่สุด ดังนั้นเด็กรุ่นต่อมาจึงไม่เลือกเรียนครูหรือเลือกเป็นลำดับสุดท้ายเนื่องจากไม่มั่นใจในโอกาสที่จะได้งานทำ จึงเป็นที่กล่าวขานกันว่านักเรียนที่เรียนอะไรไม่ได้จึงเข้าเรียนครูทำให้ภาพลักษณ์ของครู และคุณภาพการศึกษาตกต่ำลงมาก (รุ่ง แก้วแดง. 2544.:131)
นอกจากนี้ ดร.เลขา ปิยะอัจริยะ ผู้ทรงคุณวุฒิของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้ให้ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับปัญหาครูไม่มีคุณภาพว่ามิได้เกิดจากระบบไม่ดี หากเกิดจากการที่ครูขาดแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ไม่มีแรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเอง รวมถึงยังขาดการจัดการความรู้ที่ดีและมิได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนและแบ่งปันความรู้ระหว่างกัน ทั้งนี้ความรู้ในหลักสูตรและในหนังสือที่ประมวลมาสอนเด็กคิดเป็นเพียงร้อยละ 20 ของความรู้ทั้งหมด แต่ความรู้ส่วนใหญ่หรืออีกร้อยละ 80 กลับถูกละเลยได้แก่ความรู้ของครูที่เกษียณอายุไป เพราะที่จริงแล้วครูเหล่านี้มีความรู้และมีประสบการณ์ที่ฝังลึก กระทรวงศึกษาธิการจึงควรนำครูดังกล่าวมาถอดแบบความรู้เพื่อที่คนทั้ง สองรุ่นได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จร่วมกันและนำไปต่อยอดเพื่อสร้างคุณภาพเพิ่มแก่เยาชนในอนาคตได้ (เลขา ปิยะอัจฉริยะ. 2550: ออนไลน์)
สำหรับการแก้ไขปัญหาเรื่องคุณภาพของครูในปัจจุบันของกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการดังนี้
1.1การปฏิรูปการผลิตครูและสถาบันผลิตครู โดยกำหนดนโยบายการผลิตครูให้ชัดเจนด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์การปฏิรูปครูและบุคลากรทางการศึกษา (2547-2556) และการผลิตครูแนวใหม่หลักสูตร 5 ปี ใน 8 สาขา โดยเริ่มรุ่นแรกในปี 2547
ส่วนการปฏิรูปสถาบันผลิตครู ได้มีการปฏิรูปคุณภาพคณาจารย์ในสถาบันผลิตครู การวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับความเป็นเลิศทางครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์และการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานและประกันคุณภาพสถาบันฝึกหัดครู
1.2การพัฒนาและส่งเสริมครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา โดยจัดตั้งสถาบัน
พัฒนาและส่งเสริมครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา และการกำหนดนโยบายและแผนการพัฒนาครู ฯ ดำเนินการพัฒนาครู ฯ รวมถึงการยกย่องครู ฯ ที่มีผลงานดีเด่น
1.3การพัฒนามาตรฐานวิชาชีพ และการควบคุมการประกอบวิชาชีพ ได้แก่การจัดตั้งองค์กรวิชาชีพครู การพัฒนามาตรฐานวิชาชีพครู การส่งเสริม และยกย่องผู้ประกอบวิชาชีพ และการควบคุมการประกอบวิชาชีพ (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. 2550: 3-61 - 3-90)

2) ปัญหาหนี้สินครู ปัจจุบันมีครูมากกว่า 130,000 คน อยู่ในสภาพมีหนี้สินล้นพ้นตัวโดยเฉลี่ยมีหนี้คนละ 1.1 ล้านบาท ทำให้ครูขาดขวัญกำลังใจในการทำงาน มีคุณภาพชีวิตลดลง และต้องทำงานเพื่อหารายได้เสริม ทำให้ครูอุทิศตนต่อการปฏิบัติหน้าที่ที่รับผิดชอบได้ไม่เต็มที่ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนการสอนของผู้เรียนลดลง (วรากรณ์ สามโกเศศ . 2550: ออนไลน์) ทั้งนี้จากการเปิดเผยของโครงการติดตามสภาวการณ์ครูรายจังหวัด (Teacher Watch) พบว่า 5 จังหวัดแรกที่มีครูเป็นหนี้นอกระบบมากที่สุดคือมหาสารคาม มีครูเป็นหนี้นอกระบบถึงร้อยละ 60 มุกดาหารร้อยละ 58 สตูลร้อยละ 57.14 ยโสธรร้อยละ 53.93 และร้อยเอ็ดร้อยละ 53.10 (อมรวิชช์ นาครทรรพ. 2550: ออนไลน์)
สำหรับแนวทางในการเยียวยาเรื่องหนี้สินครูกระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมมือกับธนาคาร
ออมสินอนุมัติเงินกู้จำนวนทั้งหมด 8 พันล้านบาทเพื่อดูแลครูที่มีปัญหาวิกฤติจริงๆ และได้กำหนด แนวทางการแก้ปัญหาเพิ่มเติมดังนี้ การเปิดคลีนิคทางการเงินเพื่อให้คำแนะนำเรื่องการออมเงินและการปรับสภาพหนี้ เปิดศูนย์ฮอตไลน์ 1579 เพื่อให้บริการคำแนะนำเรื่องปัญหาหนี้สินของครู จัดโครงการสัมมนาแก่ครูทั่วประเทศเพื่อให้ความรู้ และจัดทำคู่มือเกี่ยวกับคำถาม-ตอบในเรื่องที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น (วรากรณ์ สามโกเศศ. 2550: ออนไลน์)

3. ปัญหาการขาดแคลนครูสะสม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้สำรวจภาวะการขาดแคลนครูในสังกัดตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกค) เมื่อต้นปี 2550 พบว่าโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศยังขาดแคลนครูประมาณ 70,000 คน (สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี. 2550: ออนไลน์) ทั้งนี้มีสาเหตุจากหลายประการอาทิการผลิตและบรรจุครูไม่สัมพันธ์กัน นโยบายของรัฐในการจำกัดกำลังคนภาครัฐและการคืนอัตรากำลังทดแทนขาดดุลยภาพ โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด การกำหนดเกณฑ์การคืนอัตรากำลังของสำนักงานข้าราชการครู ฯ กับคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและกำลังคนภาครัฐไม่ตรงกัน รวมถึงนโยบายการเกลี่ยอัตรากำลังครูไม่ได้ผล ฯลฯ ทำให้ครูแต่ละคนต้องทำงานหนัก มีเวลาในการเตรียมการสอนและถ่ายทอดความรู้ไม่เพียงพอ และบางครั้งทำให้ครูไม่มีโอกาสเข้ารับการพัฒนาอย่างเต็มที่ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ส่งผลให้คุณภาพการศึกษาของไทย ตกต่ำลง (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. .2548:31)
สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องการขาดแคลนครูคือ การจัดทำโครงการครูสหกิจ โดยให้นักศึกษาครูในหลักสูตร 5 ปี ได้ฝึกสอนในโรงเรียนที่ขาดครูโดยมีค่าเบี้ยเลี้ยงตอบแทน จัดให้ครูที่สอนไม่ตรงคุณวุฒิได้อบรมด้านการศึกษาเพิ่มเติม ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนในโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่โดยพัฒนาการสอนในชั้นเรียนขนาดใหญ่ขึ้น พร้อมนำสื่อเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ เช่น e-learning และ multi media และนโยบายรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนไม่เกิน 120 คนเข้าด้วยกันพื่อให้มีครูครบ 8 สาระการเรียนรู้ รวมถึงประหยัดครูและงบประมาณด้วย (;สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี. 2550: ออนไลน์)

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วจะพบว่าปัญหาเรื่องคุณภาพของครูอยู่ใน
ลำดับความสำคัญแรก ๆ จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็วเนื่องจากส่งผลกระทบถึงนักเรียนโดยตรง’ ทั้งนี้จากการศึกษาของอเล็ตตา บัวแมน ไนท์ (Knight, Arletta Buaman. 2006: online) พบว่าครูที่มีความสามารถจะต้องมีองค์ประกอบสามส่วน ได้แก่ความรู้ความสามารถในรายวิชาที่สอน ความเอื้ออาทรต่อผู้เรียน และความกระตือรือล้นในการปฏิบัติงาน ซึ่งความคิดดังกล่าวสอดคล้องกับผลการวิจัยของสมชาย บุญศิริเภสัช ที่ว่าพลังความสามารถในการทำงานของครูมีความสัมพันธ์กับความมุ่งหวัง ความรู้ ทักษะประสบการณ์ และอำนาจหน้าที่ของครู ซึ่งทั้งหมดนี้เรียกว่าปัจจัยพื้นฐานของครู ในขณะที่กระบวนการเสริมสร้างอำนาจ (ความสามารถ) ในการทำงานของครู ประกอบด้วยการทำงานอย่างมีอิสระ การมีส่วนร่วมในการทำงาน รวมถึงกระบวนการประเมินผลตัวเอง และความพร้อมรับการตรวจสอบสามารถเพิ่มอำนาจในการทำงานของครูได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(สมชาย บุญศิริเภสัช. 2545: บทคัดย่อ) ดังนั้นหากผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้นำผลจากการศึกษาวิจัยข้างต้นไปประกอบการพัฒนาครูอย่างเป็นระบบก็จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำงานของครู และผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ของนักเรียนในที่สุด

ปัญหาของครูผู้สอนนับเป็นประเด็นเร่งด่วนที่อยู่ในขั้นวิกฤติซึ่งภาครัฐและทุกภาคส่วนต้องประสานพลังในการแก้ไขและต้องดำเนินการอย่างจริงจัง รอบคอบ และต่อเนื่อง ทั้งนี้ยุทธศาสตร์ มาตรการ และแนวทางในการแก้ไขปัญหาทั้งหมดต้องพิจารณาในลักษณะองค์รวมตั้งแต่สถานภาพครู ทิศทางการผลิตครูในอนาคต รวมถึงการประกันคุณภาพของครูเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าครูจะมีศักยภาพเอย่างพียงพอในการขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูปการศึกษาไปสู่เยาวชนของชาติตามเป้าหมายของรัฐบาลได้อย่างแท้จริง

แหล่งอ้างอิง
1.สำนักงานกระทรวงศึกษาธการ
2.สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพึ้นฐาน หรือ สพฐ.
3.สำนักงานเขตพื้นที่ทางการศึกษา หรือ สพท.
4.สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข หรือ สธ.
5.สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา หรือ สอศ.

ทำไม...เด็กไทย อ่อนคณิตศาสตร์

ทำไมเด็กไทยอ่อนเลข... หลายคนอาจจะเถียงว่า ไม่จริง เพราะแต่ละปีมีเด็กไทยได้เหรียญทองแข่งคณิตศาสตร์โอลิมปิกหลายคน
   คงต้องยอมรับว่า เด็กไทยที่ชนะคณิตศาสตร์โอลิมปิกหากเทียบเปอร์เซ็นต์กับเด็กไทยทั่วประเทศแล้วมีจำนวนน้อยมาก อาจจะแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ หรือน้อยกว่านั้นด้วยซ้ำ

    มิหนำซ้ำ คะแนนทดสอบการประเมินนานาชาติตามโครงการ PISA (Programme for International Student Assessment) และ TIMSS (Trends in International Mathematics and Science Study) คะแนนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ไทยก็ต่ำลงไปเรื่อยๆ ตรงข้ามกับบางประเทศ อย่าง จีน  ญี่ปุ่น เกาหลี

   อะไรที่เป็นปัญหาทำให้การเรียนรู้ของเด็กไทย โดยรวมโดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ถึงไม่เก่ง ทั้งๆ ที่วิชาคณิตศาสตร์เป็นพื้นฐานของการคิดค้นนวัตกรรมทั้งปวง เราต้องยอมรับว่าในหลายประเทศที่พัฒนาไปไกลมากเกิดจากกระบวนการเรียนรู้และสร้างนวัตกรรมของคนในชาตินั้น

                 ตอนเด็กผู้เขียนเองก็ไม่สนใจและไม่ค่อยชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์ แม้ก่อนหน้านั้นจะชื่นชอบการบวกเลขจากการเล่นไพ่สนุกๆ กับเพื่อนๆ แต่ด้วยเป็นการพนันทำให้ถูกห้ามไปโดยปริยายคิดเอาแบบเข้าข้างตัวเองว่า ถ้าแม่ปล่อยให้เล่นไพ่ต่อไปคงเก่งเลขหรือไม่อีกที ก็อาจเป็นนักพนันไปเลย

                  คำตอบว่าทำไมเด็กไทยไม่เก่งคณิตศาสตร์ มาถึงบางอ้อ เมื่อผู้เขียนได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ดร.ไมตรี  อินทร์ประสิทธิ์ คณบดี คณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเป็นหัวหน้าศูนย์วิจัยเฉพาะทางด้านคณิตศาสตร์ศึกษา ศูนย์ความเป็นเลิศด้านคณิตศาสตร์ (CEM)

                 ปัญหาการศึกษาไทยเป็นเรื่องที่ซับซ้อนแม้ว่าจะพยายามแก้ไขด้วยการปฏิรูปการศึกษามานานสองรอบตั้งแต่ปี 2542 และทุ่มงบประมาณไปแล้วรวมกว่า 4 แสนล้านบาท แต่ก็ยังไม่มีใครเห็นปัญหา หรือคลำทางหาทางออกได้อย่างจริงจัง

                 อาจารย์บอกว่า  "ปัญหาของไทยเหมือนอเมริกาปี 1980 ที่เขามีปัญหาเรื่องคะแนนสอบคณิตศาสตร์รั้งท้ายประเทศในแถบเอเชีย จนต้องหันกลับมาดูระบบเกิดอะไรขึ้น ด้วยการเข้ามาศึกษาวิธีการเรียนการสอนของหลายประเทศที่ได้คะแนนดีๆ"

   เด็กไทยไม่เก่งคณิตศาสตร์ ปัญหาเริ่มตั้งแต่วิธีการเรียนการสอนของครู หลักสูตร ของกระทรวงศึกษาธิการที่ไม่เน้นการเรียนรู้ในการแก้ไขปัญหา ส่วนครูเองก็ไม่มีระบบพัฒนาวิชาชีพครูอย่างต่อเนื่องไปตลอดหลังจากที่จบวิชาชีพครูในระดับชั้นปริญญาตรีแล้ว

   " เราปล่อยให้ครูพัฒนาตัวเองหลังจบปริญญาตรี ไม่มีระบบที่จะพัฒนาวิชาชีพครูอย่างต่อเนื่อง" 

                ปัญหาเรื่องครูอาจจะเป็นปัญหาหนึ่ง เมื่อกระบวนการเรียนการสอนไม่ได้พัฒนาตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมทำให้การเรียนรู้ของเด็กๆ สะดุดไม่พัฒนาไปด้วย

   อย่างไรก็ตาม นอกจากนั้นแล้วยังรวมไปถึงหลักสูตร ที่เดิมการเรียนคณิตศาสตร์ของไทย ไม่มีแนวทางการเรียนที่เข้าใกล้ชีวิตจริงและไม่ได้เน้นการเผชิญปัญหาให้กับเด็กได้เรียนรู้วิธีการแก้ปัญหา แต่จะเน้นการสอบแบบครูบอก และตอบคำถาม แต่เด็กไม่สามารถสร้างวิธีคิดค้นหาคำตอบได้เลย

   วิธีการเรียนการสอบแบบใหม่ที่ ดร.ไมตรี บอกและเริ่มทดลองในโรงเรียนเล็กในพื้นที่ จ.ขอนแก่น 22 โรงเรียน คือ การเน้นใน 3 ส่วน เนื้อหาสาระ, กระบวนการเรียนรู้, คุณลักษณะที่พึ่งประสงค์ ด้วยแนวทางการสอบแบบเผชิญปัญหาของเด็กนักเรียน โดยให้ครูเป็นเพียงแค่ที่ปรึกษาไม่ใช่หาคำตอบให้

   การเรียนการสอนแบบนี้ดึงเด็กออกจากโลกของหนังสือและการท่องสูตร แต่เขาจะแก้ไขปัญหาของพวกเขาอย่างมีระบบ อาจารย์บอกว่าหลังทดลองกับ 22 โรงเรียนปรากฏว่าคะแนนนักเรียนไกลปืนเที่ยงเหล่านั้นขึ้นมาเป็นที่หนึ่งของสำนักงานเขตการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างน่าทึ่ง

   คงต้องถึงเวลาแล้วที่ผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาธิการ ที่พยายามหาคำตอบในการปฏิรูปการศึกษา ต้องลองหารือกับอาจารย์ไมตรี ว่าทำอย่างไรการปฏิรูปการศึกษาของไทยถึงจะเดินถูกทางซะที

ที่มา http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/politic-view/20120827/467528/%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A1...%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2-%E0%B8%AD%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%93%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C.html

ทำอย่างไรดี เมื่อลูกบ่นไม่อยากเรียน!

เมื่อมีลูก พ่อแม่ทุกคนต่างตั้งความหวังอยากให้ลูกมีความสำเร็จในชีวิต และเป็นที่ฝากผีฝากไข้สำหรับพ่อแม่ในยามแก่เฒ่า แต่เมื่อได้ยินลูกบ่นว่าไม่อยากเรียน เชื่อว่าพ่อแม่หลาย ๆ คนคงต้องคิดมากจนแทบนอนไม่หลับ เช่นเดียวกับคุณแม่เจ้าของคำถามในสัปดาห์นี้ที่ลูกชายมักบ่นไม่อยากเรียนอยู่้บ่อย ๆ ถ้าเป็นเช่นนี้ คุณหมอสินดี จำเริญนุสิต กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็กจากโรงพยาบาลเวชธานีจะมีคำตอบ และคำแนะนำอย่างไร ไปติดตามอ่านกันเลยครับ




     คำถาม : ลูกชาย 5 ขวบ ชอบบ่นว่าไม่อยากเรียน ขี้เกียจทำการบ้าน ทำอย่างไรดีคะ? (บ่นมาสักระยะหนึ่งแล้วค่ะ) ถามว่าเป็นอะไรก็ไม่ค่อยพูดค่อยจา เป็นห่วงลูกจังเลยค่ะหมอ
       คุณหมอสินดี : ก่อนอื่นคุณแม่ลองคุยกับครูที่โรงเรียนก่อนนะคะว่าน้องเป็นอย่างไร มีปัญหาในห้องเรียนหรือไม่ การบ้านเยอะจริงหรือเปล่า ถ้าที่โรงเรียนครูบอกน้องไม่มีปัญหาอะไร คุณแม่ก็มาดูที่น้องนะคะว่า เวลาบ่นนั้นคือเราถามก่อนหรือไม่ (บางครั้งเด็กก็เลือกที่จะตอบแบบนั้นเพื่อให้เราสนใจหรือตกใจ) ถ้าไม่ถามบ่นหรือเปล่า เพราะบางครั้งเด็กวัยนี้จะพูดหรือบ่นเป็นแล้ว เริ่มเลือกเป็น เช่น จะแต่งตัวอย่างไร จะกินอะไร เป็นต้น เรื่องเรียนก็เช่นกันค่ะ เด็กบางคนห่วงเล่น ไม่ชอบนั่งเขียน หรือทำงานได้นาน ๆ ก็จะเลี่ยงไม่ยอมทำ ฉะนั้นวัยนี้เราก็ยังต้องช่วยคุมการทำการบ้าน พร้อมทั้งคอยให้กำลังใจไปด้วยนะคะ
     
       ส่วนการที่แม่ถามแล้วไม่ตอบก็ต้องมาดูอีกว่าเขามีทีท่าอย่างไร ร้องไห้ โกรธ หรือแสดงอาการเหมือนว่ามีปัญหาอะไรจริง ๆ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ควรพบกุมารแพทย์ก่อนนะคะ ทั้งนี้ก็เพื่อประเมินเบื้องต้นว่าน้องมีปัญหาด้านจิตใจอารมณ์หรือไม่

วิทยาศาสตร์ไทย ก็ให้ท่องจำ เมื่ออ่านน้อย ก็ตีโจทย์ไม่แตก

ความเข้าใจทั่วไป การเรียนสายวิทยาศาสตร์เก่งได้โดยไม่ต้องอ่านหนังสือมากเหมือนสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
         แต่เอาจริงเข้าไม่ใช่อย่างนั้น เพราะนักวิชาการจากสหรัฐวิพากษ์การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนไทยว่าเด็กมีปัญหาการอ่าน เลยตีโจทย์ไม่แตก
         ฉะนั้นต้องเพิ่มทักษะการอ่าน แล้วเลิกสอนให้ท่องจำ ครูควรเลิกยืนหน้าชั้นบอกให้เด็กจดตามครู ฯลฯ จะสรุปข่าวจากกรุงเทพธุรกิจ (ฉบับวันพุธที่ 12 กันยายน 2555 หน้า 16) มาให้รู้ไว้ดังนี้
         ทอม คอร์คอแรน ผู้อำนวยการร่วมสถาบันวิจัยนโยบายการศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นักวิจัยและพัฒนาการสอนในสหรัฐอเมริกา ผู้มีประสบการณ์ศึกษาการจัดการสอนด้านวิทยาศาสตร์ในหลายๆประเทศ และมีประสบการณ์ทำงานร่วมกับครูสอนวิทยาศาสตร์ไทยเป็นระยะเวลากว่า 6 ปีเต็ม ได้สะท้อนถึง “ปรากฏการณ์ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ไทย” ตอนหนึ่งว่า
         เด็กหลายคนมีปัญหาเรื่องการอ่าน เพราะไม่สามารถอ่านโจทย์ให้เข้าใจได้ ดังนั้นสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ควรส่งเสริมให้ครูที่สอนวิทยาศาสตร์ต้องสอนทักษะทางภาษาและการอ่านให้เด็ก โดยเฉพาะการอ่านโจทย์แบบวิเคราะห์
         การสอนในห้องเรียนวิทยาศาสตร์ของไทย ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่ควรปรับปรุง มีประเด็นสำคัญดังนี้
         1) ครูต้องไม่สอนให้เด็กท่องจำเนื้อหาเป็นหลัก แต่เน้นความเข้าใจในเนื้อหาและสร้างทักษะการคิดวิเคราะห์ให้เด็ก
         2) เวลาเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ของเด็กไทยน้อยกว่าประเทศอื่นๆ
         3) หลักสูตรวิทยาศาสตร์ของไทย พยายามใส่เนื้อหาและสาระวิชามากเกินไป จนทำให้เด็กไทยไม่มีโอกาสทำความเข้าใจเชิงลึกในเนื้อหา
         4) สภาพชั้นเรียนส่วนใหญ่ครูจะยืนบอกให้เด็กจดหน้าชั้นเรียน หรือเดินตามสูตรสำเร็จที่หนังสือให้ไว้ ทำให้ขาดปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็ก
         5) การสอบมุ่งใช้“ความจำ”เป็นหลัก โดยวัดผลที่ข้อเท็จจริงของเนื้อหามากกว่าสาระสำคัญหลักของเรื่อง ทำให้ครูก็ต้องสอนแบบนั้น
         “ปัญหาที่เกิดขึ้นมันโยงใยกันทั้งหมด ทั้งหลักสูตรที่เน้นเนื้อหาหลายเรื่อง ชั่วโมงเรียนที่น้อย การสอนที่เน้นท่องจำเนื้อหา เหล่านี้คือเงื่อนไขที่ทำให้ครูต้องสอนแบบนี้ ไม่ใช่ครูไม่อยากเป็นครูสอนที่ดี แต่เกิดจากบริบทที่นำพาให้ครูต้องสอนเช่นนี้” ทอมบอก
         ปัจจุบันทอมร่วมกับ สสวท. ปรับหลักสูตรวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ใหม่ให้อยู่บนกรอบความคิดหลัก และออกแบบการสอนให้สอดคล้องกรอบความคิดหลักนั้น
         ไม่น่าเชื่อว่าวิทยาศาสตร์ไทยในห้องเรียน ก็สอนให้ท่องจำเป็นหลักเหมือนวิชาอื่นๆ จึงอ่านน้อย เลยเข้าใจอะไรๆไม่มาก ก็ตีโจทย์ไม่แตก
         จินตนาการที่ผมเคยมีมานานนักหนา พากันพังเพหมดเลย



ที่มา http://www.sujitwongthes.com/2012/09/siam26092555/




เทคนิคการสอนวิทยาศาสตร์ให้สนุก 7 ประการ


การสอนวิทยาศาสตร์ตามรูปแบบ 7 ประการที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ได้ผสมผสาน วิธีการสืบเสาะหาความรู้ด้วยตนเอง การใช้ความคิดทางด้านต่างๆ และการเรียนรู้ โดยนักเรียนเป็นศูนย์กลางเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งเด็กๆ โดยเฉพาะในระดับประถมและมัธยมต้น
จะสนุกกับวิธีการสอนและอุปกรณ์ต่างๆ ที่นำมาให้พวกเขา ได้ทดลองวิธีนี้จึงจัดว่าเป็นการสอนโดยใช้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง รูปแบบ 7 ข้อนี้ได้เรียงลำดับ ไว้เพื่อความเหมาะสมในการสอนทุกๆ ข้อมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันและไม่จำเป็นว่าจะต้องนำไปปฏิบัติ เรียงตามลำดับนี้ เพราะจุดประสงค์ของรูปแบบการสอนนี้มีไว้เพื่อเป็นกรอบความคิดทาง การสอนได้หวังว่าครูจะต้องนำไปปฏิบัติตาม การสอนแบบนี้จะเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียน และค้นพบความรู้ด้วยตนเอง บนโครงสร้างพื้นฐานของการเรียนรู้จากหลายๆ แขนง เช่น ตรรกวิทยา คณิตศาสตร์ ดนตรี ภาษาศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งจะเปิดโอกาสให้นักเรียนค้นพบ วิทยาศาสตร์ จากแง่มุมต่างๆ ได้ องค์ประกอบทั้ง 7 ประการคือ

การคาดหมาย (Expectation)
หมายถึง วัตถุประสงค์กว้างๆ เป็นแนว ความคิดหรือการสร้างภาพกว้างๆ เกี่ยวกับบทเรียนขึ้นมา ครูจะต้องมีความยืดหยุ่นที่จะ ปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์นี้ไปตามสถานการณ์ จึงจะมีประสิทธิภาพ เพราะหากเราจำกัดวัตถุ ประสงค์เกินไป ไม่เปิดกว้าง จะทำให้ไม่สามารถเห็นความสนใจและความก้าวหน้าของ นักเรียนได้อย่างแท้จริง ดังนั้นผลสุดท้ายของวัตถุประสงค์จึงอาจจะถูกเปลี่ยนไปได้จาก แรกเริ่มอย่างที่เรียกว่าหน้ามือเป็นหลังมือก็ได้ ตัวอย่างเช่น ในการสอนเรื่องวงจรไฟฟ้า วัตถุประสงค์เริ่มต้นนั้นมีเพียงแค่ให้นักเรียนเกิดความสนใจในรูปแบบของวงจร เปิด วงจรปิด วงจรขนาน แต่เมื่อจบบทเรียนจริงๆ แล้วเด็กๆ อาจจะถึงกับสามารถสร้าง เครื่องวิทยุอย่างง่ายๆ ขึ้นเองได้ ดังนั้นเมื่อเด็กๆ รู้ว่าตนได้รับการเปิดกว้างในการเรียน วิทยาศาสตร์จากครูเต็มที่ เขาก็จะเริ่มตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ และค้นหาสิ่งที่อยากรู้มากขึ้น
สิ่งล่อใจ (Enticement)
คือ กิจกรรมที่จะสามารถชักชวนให้เด็กๆ สนใจ จะเรียนรู้ อาจจะออกมาในรูปแบบต่างๆ เช่น การใช้วีดีโอ การเล่าเรื่องสั้น การจัดตกแต่ง ห้องเรียน การใช้เสียงประกอบ ใช้อารมณ์ขันหรือการสาธิตให้ดู
การเข้าร่วมกิจกรรม (Engagement)
ช่วยให้เกิดความเข้าใจใน บทเรียน โดยอาจจะเป็นการนำเสนอหน้าชั้น การสาธิต หรือการทำกิจกรรมร่วมกัน
การอธิบาย (Explanation)
หลังจากที่ได้ช่วยกันพิจารณาวัตถุประสงค์ ที่ตั้งไว้จนเกิดความเข้าใจแล้ว ก็จะเป็นช่วงที่นักเรียนจะมีการอภิปรายร่วมกัน ในการอธิบาย แนวความคิดหลักต่างๆ ทั้งครูและนักเรียนอาจเป็นผู้ริเริ่มหัวข้าสนทนาได้ทั้งในกลุ่มเล็กและ กลุ่มใหญ่ แหล่งที่มาของข้อสนทนาก็อาจจะมาได้จากแหล่งต่างๆ นอกเหนือจากในหนังสือ เรียนสื่อที่จะช่วยการอธิบายก็มีเช่น การใช้สมุดภาพ การไปทัศนศึกษาเพื่อให้นักเรียนเห็น ของจริง ข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต หรือห้องสมุดโรงเรียนก็จะเป็นแหล่งข้อมูลทั้งทางทฤษฎี และปฏิบัติ นอกจากนี้กิจกรรมภายในบ้าน เช่น การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ก็ช่วยเชื่อมโยง กับบทเรียนได้อีกด้วย
การค้นหา (Exploration)
จะช่วยผลักดันให้นักเรียนพิจารณาความรู้ และประสบการณ์ที่มีอยู่ นำมาเชื่อมโยงกับวัตถุประสงค์ของชั้นเรียน การทำกิจกรรมด้วย ตนเอง เป็นสิ่งสำคัญในการเรียนวิทยาศาสตร์ และสิ่งนี้จะดึงดูดความสนใจนักเรียนและ จะช่วยทำให้บรรยากาศในชั้นเรียนดีขึ้นได้ การที่ครูจัดเตรียมอุปกรณ์การทดลอง และ การทดลองหลากหลายไว้ให้ จะช่วยเพิ่มขอบเขตความคิดของนักเรียน
การขยายความ (Extension)
เป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนนำความรู้ ของตนมาปรับใช้กับสถานการณ์ต่างๆ รู้จักหาคำตอบต่อคำถามที่ว่า “มันจะเป็นอย่างไรถ้า…..” ครูสามารถจะให้นักเรียนใช้ความรู้ของตนมาใช้ทดลองเองกับอุปกรณ์ที่มีอยู่ใน ห้องเรียน ให้ทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับบทเรียน เพื่อที่จะให้นักเรียนสามารถค้นพบคำตอบด้วยตนเอง
หลักฐาน (Evidence)
เป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนสะท้อนความรู้ ความคิดของตนออกมาทางการเขียนที่มิใช่การทำข้อสอบ นักเรียนจะต้องเขียนผลลัพธิ์ของ การทดลองเพื่อฝึกการจัดระบบความคิด และเชื่อมโยงความคิดกับความรู้สึก ประสบการณ์ที่มี และเรามีแนวการเขียนรายงานสั้นๆเรียกว่า ฟอร์ กอล์ฟเฟอร์ (FGOLFeRS) ซึ่งเป็นการ เขียนรายงานที่เริ่มด้วยการวาดโครงร่างของกระบวนการและผลลัพธ์ของการทดลอง จากนั้น ให้สะท้อนความรู้สึกในระหว่างที่ทำกิจกรรมนั้น เชื่อมโยงกับประสบการณ์ที่ผ่านมาและแนวคิด ทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ ฟอร์ กอล์ฟ เฟอร์ประกอบด้วย
F – Find
กล่าวถึงสิ่งที่เราต้องการจะค้นหา โดยให้วัตถุประสงค์ของการทำการทดลองนั้นๆ
G – Guess
กล่าวถึงผลลัพธ์ที่เราคาดเดาไว้ก่อนทำการทดลอง
O – Order
กล่าวถึงลำดับขั้นของการทำการทดลอง
L – Learn
กล่าวถึงสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการทำการทดลองนั้น
Fe – Feeling
เรามีความรู้สึกอย่างไรในระหว่างที่ทำการทดลอง และรู้สึกอย่างไรหลังจากทดลองแล้วเสร็จ
R – Remind
กล่าวถึงประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการทดลองนี้ทำให้เรานึกถึงเหตุการณ์อื่นๆที่ผ่านมาบ้างหรือไม่ และเกี่ยวข้องกันอย่างไร
S – Science
คิดว่าการทดลองนี้มีผลกระทบต่อวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันและอนาคตอย่างไร เราคิดว่ามันมีประโยชน์หรือไม่ อย่างไร
เพราะวิชาวิทยาศาสตร์จะต้องอิงอยู่กับการทดลองเสียเป็นส่วนมาก ดังนั้น การเขียนรายงานจึงเป็นวิธีหนึ่งที่จะแสดงความเข้าใจในเนื้อหา แต่อย่างไรก็ตามการ เขียนรายงานก็อาจจะต้องเสียเวลามาก ดังนั้นการประมวลความรู้ ร่วมกับเพื่อนๆ จะช่วยเพิ่มคุณภาพของการเขียนและลดเวลาที่ครู จะให้คะแนนลงไปได้ หรือเราอาจจะให้นักเรียนในกลุ่มเล็กๆ ช่วยกัน เติมข้อความหรือวาดโครงร่างเกี่ยวกับสิ่งที่เขาได้เรียน ได้ใช้กลยุทธ ในการเรียนหลายๆ แบบ ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดในการใช้แนวคิดนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นอิสรภาพ ในการเลือกและเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์เข้ากับชีวิตจริงของเรา



ที่มา  http://www.learnsanook.info เรียนสนุก